“หลวงพ่อโต ยโสธโร” อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านกล้วย ต.ท่าหลวง (ปัจจุบันเป็น ต.ดงใหญ่) อ.พิมาย จ.นครราชสีมา อดีตพระเกจิเรืองวิทยาคมมีชื่อเสียงโด่งดังในพื้นที่
เป็นพระเกจิของเมืองโคราชยุคสงครามอินโดจีน เป็นหนึ่งในพระคณาจารย์ที่เข้าร่วมพิธีสร้างพระปิดตาเนื้อขันลงหิน เนื้อทองผสม เนื้อสำริด และวัตถุมงคลเนื้อทองผสมอันลือลั่น ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ชาวเมืองโคราช
ปี พ.ศ.2460 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 มีชาวบ้านและทหารหาญมาพึ่งบารมีกันมาก จึงสร้างวัตถุมงคลเป็นตะกรุด ผ้าประเจียด ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ และเครื่องรางของขลัง ให้ลูกศิษย์ ลูกหาไว้สำหรับป้องกันตัว
ในขณะนั้นปรากฏว่าชาวบ้านกล้วย ชาว อ.พิมาย รอดชีวิตทุกคน จนเป็นที่โจษขานกันไปทั่ว ผู้คนต่างเดินทางมากราบท่าน ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ขอบารมีรดน้ำมนต์ สะเดาะเคราะห์ ต่อชะตาชีวิตเสริมดวง นอกจากนี้ ท่านยังได้ส่งเสริมพระภิกษุ-สามเณรในวัดให้สนใจใฝ่ทางการศึกษาด้วย
เมื่อปี พ.ศ.2475 มีส่วนสร้าง “พระนาคปรกพิมาย” ร่วมกับพระอาจารย์ ซึ่งมีหลวงปู่หริ่ง วัดตะบอง หลวงปู่ทุย วัดบ้านกล้วย และพระครูศรีสุทธิพจน์ วัดเดิม เป็นพระนาคปรกเนื้อทองผสมที่มีชื่อเสียงมากของเมืองพิมาย ปัจจุบันนักสะสมเล่นหากันในราคาสูง โดยสร้างจากเทวรูปเนื้อสำริดที่ชำรุด พระพุทธรูปสมัยเก่า เนื้อสำริดที่ชำรุด กำไลโบราณ ลูกประคำโบราณ ลูกกระพรวนโบราณ ขันลงหินเก่า ถาดลงหินเก่า ระฆังเก่า กังสดาลเก่า บาตรและฝาบาตรเก่า ตะกรุดเก่า ฯลฯ
จวบจน พ.ศ.2484 ร่วมสร้างวัตถุมงคลเนื้อขันลงหิน ยุคสงครามอินโดจีนอันลือลั่น ร่วมกับหลวงปู่รอด วัดบ้านไพ หลวง พ่อเสียบ วัดบ้านเกาะ โดยใช้ชนวนเก่าจากพระนาคปรกพิมาย และวัสดุทองเหลือง ทองแดงสำริด ฝีมือช่างแกะแม่พิมพ์หลากหลายของนายช่างลา ศิริไธสง ช่างมือหนึ่งแห่งเมืองโคราช ส่วนพิธีหล่อหลอมจัดขึ้นที่ลานหน้าปราสาทหินพิมายโดยพรหมณ์ได้อัญเชิญเทวดา 16 ชั้นฟ้า 15 ชั้นดิน อัญเชิญดวงวิญญาณของนักรบขอมแห่งเมืองพิมายมาร่วมเป็นสักขีพยาน