ประวัติหลวงพ่อลอย ปัญญาทีโป
“หลวงพ่อลอย ปัญญาทีโป” หรือ “หลวงพ่อดำ” เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหนองหยิบ ต.ป่าคา อ.ท่าวังผา จ.น่าน พระวิปัสสนาจารย์ศิษย์สืบสายธรรมหลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ ศิษย์รุ่นแรกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนา
ปัจจุบัน สิริอายุ 72 ปี พรรษา 32
มีนามเดิมว่า นายลอย อุกประโคน เกิดเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2493 พื้นเพเป็นชาว ต.โคกย่าง อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ บิดา-มารดาชื่อ นายพลและนางเบิ้ม อุกประโคน เป็นบุตรคนโตในจำนวนพี่น้อง 2 คน
เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนในชุมชน กระทั่งอายุ 12 ปีเข้าพิธีบรรพชา ที่วัดป่าโยธาประสิทธิ์ มีหลวงปู่ดุลย์ อตุโล เป็นพระอุปัชฌาย์
ในช่วงเป็นสามเณรได้อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่ดุลย์ ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์อยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งหลวงปู่ดุลย์เป็นพระเถระที่พูดน้อย อีกทั้งยังพูดคำไหนคำนั้น อย่างไรก็ตาม หลวงปู่ดุลย์ให้ความเมตตาสามเณรลอย ทั้งยังพร่ำสอนโอวาทและสอนหลักปฏิบัติธรรมให้อย่างเคร่งครัด แต่บวชได้ 1 ปี จึงลาสิกขามาช่วยครอบครัวเลี้ยงกระบือและทำไร่ทำนา
อายุ 40 ปี เกิดความเบื่อหน่ายทางโลก เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2533 ที่พัทธสีมาวัดไตรรัตนาราม จ.สุรินทร์ โดยมีพระราชวิสุทธินายกเป็นพระอุปัชฌาย์, พระสมุห์ประเสริฐ นิปปโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสุทัศน์ สุทัสสโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ได้รับฉายาว่า ปัญญาทีโป หมายความว่า ผู้มีปัญญาเป็นแสงสว่าง จำพรรษาที่วัดป่าโยธาประสิทธิ์ ต.ตาเตียวสามัคคี อ.เมือง จ.สุรินทร์ นาน 3 ปี ย้ายไปจำพรรษาที่วัดศรัทธารวม จ.นครราชสีมา ธุดงค์รอนแรมผ่านหลายจังหวัด ก่อนลัดเลาะป่าเขาไปที่สำนักสงฆ์แห่งหนึ่งใน จ.อุทัยธานี
จากนั้นธุดงค์ต่อไปที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เน้นจำพรรษาที่สำนักสงฆ์ ธุดงค์ผ่านจ.ตาก ก่อนลัดเลาะไปที่ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ผ่าน จ.สระแก้ว มุ่งสู่มาตุภูมิที่ อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ช่วยสร้างอุโบสถที่วัดป่าโคกเครือ ต.จรเข้มาก นาน 2 ปี จนแล้วเสร็จ
พ.ศ.2535 ออกเดินธุดงค์พร้อมพระภิกษุ-สามเณร 5 รูป มุ่งสู่ภาคเหนือไปที่สำนักสงฆ์พระธาตุหนองหยิบ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ด้วยที่สำนักสงฆ์แห่งนี้สงบเงียบ จึงอาศัยศาลาการเปรียญที่พังทรุดโทรมข้างกำแพงพระธาตุหนองหยิบ จำพรรษาและปฏิบัติธรรม ท่านพัฒนาพร้อมสร้างกุฏิ และศาลาการเปรียญหลังใหม่ จนชาวพุทธศาสนิกชนแวะเวียนเข้ามาทำบุญไม่ขาดสาย
พระธาตุหนองหยิบ เป็นเจดีย์กว้าง 5 วา สูง 5 วา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ต่อมาพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช เจ้าเมืองน่าน นำช่างบูรณปฏิสังขรณ์ซ่อมแซม มอบให้ชาวไทลื้อและชาวบ้าน ใกล้เคียงดูแลรักษา จนทรุดโทรมตามเวลา
พ.ศ.2559 หลังพัฒนาสำนักสงฆ์แห่งนี้มานาน 7 ปี กรมศิลปากรจึงเข้าบูรณะพระธาตุหนองหยิบ หรือชาวบ้านเรียกว่าพระธาตุหนองบัว เนื่องจากสร้างอยู่ติดกับหนองน้ำสาธารณะคือ หนองบัว ไว้เป็นโบราณสถานโบราณวัตถุให้ไว้ยึดเหนี่ยวจิตใจกราบไหว้ ต่อมาจึงได้รับการยกฐานะเป็นพระอาราม เมื่อปี พ.ศ.2565
นอกจากเป็นพระนักพัฒนา ท่านไม่ ยึดติดเงินทอง ญาติโยมและผู้มีจิตศรัทธาตลอดจนลูกศิษย์ทั้งข้าราชการ นายทหาร นำเงินมาถวาย แต่ท่านจะไม่รับปัจจัย มักจะบอกกับลูกศิษย์เสมอว่า “เอาเงินมาถวายแล้วโยมมีเงินใช้มั้ย ถ้าอยากร่วมทำบุญกับหลวงพ่อ เอาเงินนั้นมาช่วยกันพัฒนาวัดกันดีกว่า” ถือเป็นศิษย์เอกของหลวงปู่ดุลย์ ที่ยังดำรงธาตุขันธ์ มุ่งเดินตามรอยพระสายป่าอย่างแท้จริง
อริยะโลกที่6 - หลวงพ่อลอย ปัญญาทีโป สืบสายธรรมหลวงปู่ดุลย์... อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.khaosod.co.th/newspaper/newspaper-inside-pages/news_7415295
- สุดยอดทั้งประสบการณ์และหายาก
- รับประกันแท้ และตามกฏ
- เดิมๆ ไม่ล้าง
- ตรงตามภาพ
- สภาพสวย พุทธคุณมากมายคงเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง
- ส่งฟรี ปณ.ECO/เกิน 500 ส่ง ปณ EMS