หลวงพ่อเปิ่น วัดบางพระ นามเดิม เปิ่น นามสกุล ภู่ระหงษ์
เกิดวันอาทิตย์ที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๖๖ เดือน ๙ ปีกุน ณ บ้านเลขที่ ๔ หมู่ที่ ๔
ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี
จังหวัดนครปฐม เป็นบุตรของนายฟัก นางยวง ภู่ระหงษ์ เป็นบุตรคนที่ ๙
ในจำนวนพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกันรวม ๑๐ คน หลวงพ่อเปิ่นสนใจในเรื่องของไสยศาสตร์
มาตั้งแต่สมัยเด็กอาศัยว่าครอบครัวของท่านอยู่ใกล้กับวัดบางพระซึ่งในสมัย
นั้นมีพระคุณเจ้าที่จำพรรษาอยู่ที่วัดบางพระมีความเก่งกาจมีความเชี่ยวชาญใน
สายไสยศาสตร์ หลายองค์ เด็กชายเปิ่นจึงเข้าออกเพื่อความอยากรู้อยากใฝ่หา
ในวิชาอยู่กับวัดบางพระเป็นประจำ นายเปิ่น ศึกษาวิชากับหลวงพ่อแดง วัดทุ่งคอก
ด้รับการถ่ายทอดยาสมุนไพรรักษาโรค คาถาอาคมต่างๆ โดยเฉพาะวิชาสักยันต์อันเกรียงไกร
จากหลวงพ่อหิ่ม อินฺทโชโต
เจ้าอาวาสวัดบางพระซึ่งท่านท่านรักและเมตตาศิษย์หลวงพ่อเปิ่นเป็นพิเศษ วิชาการต่าง
ๆ ท่านจึงถ่ายทอดให้โดยไม่ปิดบัง ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๑ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ
เดือน ๖ ปีกุน จึงเข้าสู่บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า
อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม โดยมี เจ้าอธิการหิ่ม อินทโชโต เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์ทองอยู่ ปทุมรัตน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์เปลี่ยน
ฐิตฺธัมโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลวงพ่อเปิ่น ได้นามว่า “พระฐิตคุโณ”
การศึกษาเล่าเรียนใด ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด แม้หลวงพ่อเปิ่นได้รับจากหลวงพ่อหิ่มมาก็ยังไม่อิ่มในรสแห่งพระธรรม
เสร็จจากงานฌาปนกิจศพของหลวงพ่อหิ่มแล้ว ก็ตั้งใจจะแสวงสัจจะธรรมต่อไปอีก
หลวงพ่อเปิ่นได้เข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์
หลวงพ่อโอภาสี (พระมหาชวน)วัดบางมด ซึ่งได้อบรมแนะนำสั่งสอนพระกัมมัฎฐาน
ศึกษาปฏิบัติกับหลวงพ่อโอภาสีเป็นเวลา ๑ ปีเศษ หลวงพ่อเปิ่นก็กราบลาเพื่อออกธุดงค์วัตรต่อไปทางภาคเหนือของประเทศไทย แล้วธุดงค์ลงใต้
พบอาจารย์ที่ไหน ก็จะเข้าไปฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาธรรมจากท่าน
ย้อนกลับขึ้นมาที่สุราษฎร์ธานี ได้กราบนมัสการ หลวงพ่อพุทธทาส แห่งสวนโมกข์ และ
หลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย หลังจากนั้นข่าวคราวของหลวงพ่อเปิ่นเงียบหายไปอย่างสนิทกระทั่งปลายปี
พ.ศ.๒๕๐๔ บ่ายแก่ของวันหนึ่ง พระธุดงค์วัยเกือบสี่สิบมาปักกลดอยู่ชายทุ่ง
ใกล้กับวัดทุ่งนางหรอก อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี
พระธุดงค์องค์นี้ได้สร้างศรัทธาให้แก่ชาวบ้านอย่างมากมาย ทั้งปฏิปทาที่เคร่ง
ทั้งสายวิชาพระเวท ทั้งยาสมุนไพรช่วยเหลือชาวบ้าน
ยิ่งเกิดศรัทธาอันสูงสุดของชาวบ้านที่พุ่งตรงสู่พระธุดงค์รูปนี้ หลวงพ่อเปิ่น ฐิต
คือองค์พระธุดงค์องค์นั้น ภายในระยะเวลาไม่ถึง ๒ ปี หลวงพ่อเปิ่นได้พัฒนาวัดทุ่งนางหรอก
อำเภอลาดหญ้า จังหวัดกาญจนบุรี ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองมาก ในช่วงดังกล่าว
ท่านเกิดป่วยกระทันหัน จำเป็นต้องเข้ามารักษาตัวในเมือง
ท่านจึงได้กลับมารักษาตัวที่วัดบางพระ ตำบลบางแก้วฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
ตั้งใจไว้ว่าเมื่อหายป่วยดีแล้วก็จะกลับไปพัฒนาส่วนอื่นที่จะต้องทำอีกต่อไป
เมื่อหายป่วยดีแล้ว ก็ตั้งใจจะกราบลาพระอาจารย์เพื่อเดินทางกลับไป
ประจวบเหมาะกับที่ชาวบ้านวัดโคกเขมา มาขอพระจากพระอาจารย์เปลี่ยน ฐิตธัมโม
ไปเป็นเจ้าอาวาสเพื่อพัฒนาวัด คณะสงฆ์ในตำบลแหลมบัว ออกประกาศและแต่งตั้งให้
หลวงพ่อเปิ่นฐิตคุโณ
เป็นเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา ตั้งแต่วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๙
และนี่เป็นจุดแห่งบุญญาบารมีและชื่อเสียงของหลวงพ่อเปิ่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโคกเขมา หลวงพ่อเปิ่นได้เริ่มพัฒนาวัด
ก่อสร้างเสนาสนะ ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ ทุกอย่างเป็นไปอย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้เกิดด้วยแรงศรัทธาของประชาชนที่มีต่อ หลวงพ่อเปิ่นในเวลานั้น
และที่วัดโคกเขมานี่เอง หลวงพ่อเปิ่นได้สร้างพระเครื่องเป็นครั้งแรก
ปัจจุบันพระเครื่องหลวงพ่อเปิ่นรุ่นนี้ของวัดโคกเขมาหายากมาก
เพราะเป็นพระเครื่องที่มีประสบการณ์ สร้างอภินิหาริย์ให้ผู้เช่าบูชาได้ประจักษ์
หลังจากรุ่นรูปหล่อเนื้อทองแดงของท่านแล้ว พระเครื่องและวัตถุมงคลต่าง ๆ
จากวัดโคกเขมาจึงออกมาอีก เพื่อให้ศิษย์และประชาชนทั่วไปได้เช่าหาบูชากัน
เพื่อนำเงินบำรุงพัฒนาวัด ที่วัดโคกเขมา ได้จัดสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคลหลวงพ่อเปิ่นทั้งเนื้อผง สมเด็จ รูปหล่อ
เหรียญ พระบูชาพระสังกัจจายน์
ทุกอย่างทุกองค์ที่หลวงพ่อสร้างมีค่ายิ่งสำหรับชาวบ้านที่รับไป
สิ่งที่เป็นตำนานกล่าวขานกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น
จวบจนปัจจุบันตั้งแต่วัดโคกเขมาเป็นต้นมาก็คือ “การสักยันต์” หลวงพ่อเปิ่นในสมัยที่ท่านยังมิได้รับพระราชทาน
สมณะศักดิ์ หลวงพ่อเปิ่นท่านลงมือสักลงอักขระเวทด้วยองค์ท่านเอง
มาภายหลังหลวงพ่อได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการสักให้แก่ศิษย์เป็นองค์สักแทน แล้วหลวงพ่อเปิ่นเพียงทำพิธีครอบให้เท่านั้น
เรื่องการสักยันต์ของหลวงพ่อเปิ่นกล่าวเพียงบทสรุป
ว่าชอบ เสือ ด้วยเหตุผลที่บอกเพียงสั้น ๆ แก่ศานุศิษย์ว่า เสือเป็นสัตว์ที่มีอำนาจ
เพียงเสียงคำรามของเสือ สัตว์ทั้งหลายก็สงบเงียบ กลิ่นของเสือ
สัตว์ทั้งหลายเมื่อรับสัมผัสจะยอมในทันที หลีกทันก็ต้องหลีก จัดอยู่ในมหาอำนาจ
เสือรูปร่างสง่างาม เต็มไปด้วยอำนาจบารมี จัดอยู่ในมหานิยม ที่สำคัญ หลวงพ่อเปิ่น
เคยประจันหน้ากับเสือมาแล้ว กลางป่าลึก ระหว่างธุดงค์วัตรแถวป่าใหญ่
จังหวัดกาญจนบุรี จึงเกิดความประทับใจตั้งแต่นั้นมา เมื่อหลวงปู่หิ่ม อินฺทโชโต
มรณภาพลงและหลวงพ่อเปิ่นออกจาริกแสวงธรรม
ทางวัดบางพระเงียบเหงาลง ต่อมา”หลวงพ่อทองอยู่ ปทุมรัตน์” พระกรรมวาจาจารย์ของหลวงพ่อเปิ่นได้เป็นเจ้าอาวาสต่อจากหลวงปู่หิ่ม
จนมรณภาพลงในปี พ.ศ.๒๕๑๖ เจ้าอาวาสวัดบางพระ จึงว่างลง ชาวบ้านจึงพร้อมใจกัน
ไปกราบอาราธนาหลวงพ่อเปิ่นให้กลับมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางพระ
ซึ่งในตอนแรกหลวงพ่อเปิ่นไม่ยอมมาด้วยสาเหตุว่าไม่มีใครดูแลวัดโคกเขมา
ซึ่งเป็นเหมือนกับวัดที่ท่านสร้างขึ้นมาใหม่ ภาระและความรับผิดชอบยังอยู่ที่ท่าน
กล่าวกันว่าชาววัดโคกเขมา เมื่อทราบว่าหลวงพ่อเปิ่นท่านจะต้องกลับไปพัฒนาวัดบางพระซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน
เสียดายก็เสียดายทำอย่างไรได้เมื่อเหตุมันเกิดก็ต้องยอมแต่ยังอุ่นใจอยู่ว่า
ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นไปกราบปรึกษาหารือท่าน ก็คิดว่าจะได้รับคำแนะนำที่ดีมีประโยชน์
บางทีท่านอาจจะลงมือมาช่วยได้อีก ในที่สุดหลวงพ่อเปิ่นท่านก็กลับมาพัฒนาวัดบางพระ
สมเจตนาของชาวบ้านบางพระ นั่นคือการจบชีวิตการธุดงค์ของหลวงพ่อเปิ่น ในวันที่ ๒
ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๓ ให้พระฎีกาเปิ่น วัดบางพระ จังหวัดนครปฐม เป็น
“พระครูฐาปนกิจสุนทร”
ช่วงนี้นี้เองที่วัดบางพระมีการออกพระเครื่องและวัตถุมงคลของหลวงพ่อเปิ่น
เพื่อทดแทนในน้ำใจแห่งศรัทธาที่ศิษยานุศิษย์และชาวบ้านได้ร่วมกันในการพัฒนาวัดบางพระนั่นเอง
ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗ หลวงพ่อเปิ่นท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณะศักดิ์จาก
พระครูฐาปนกิจสุนทร เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ เป็น “พระอุดมประชานาถ”
ด้วยการพัฒนาวัดและชุมชนมาโดยตลอด ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์โดยอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ถวายปริญญาบัตร
พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมศาสตร์ ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม พุทธศักราช
๒๕๓๘ แก่องค์หลวงพ่อเปิ่น
แสดงให้เห็นว่าหลวงพ่อเปิ่นได้เป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ยิ่งใหญ่
ซึ่งเป็นพระสงฆ์ของประชาชนโดยแท้ ท่านไม่ทิ้งธุระทางการศึกษา
พัฒนาสาธารณะประโยชน์เกี่ยวกับการศึกษาไว้มากเพื่อเป็นแนวทางแก่พระภิกษุ –
สามเณรในพระพุทธศาสนา ในวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๕ เวลา ๑๐.๕๕ น. ณ
โรงพยาบาลศิริราช หลวงพ่อเปิ่นได้ละสังขารด้วยอายุ
๗๙ ปี ๕๔ พรรษา ยังความอาลัย เศร้าโศก เสียใจแก่ปุถุชนจิต
แต่ได้แสดงให้เห็นถึงมรณัสสติแก่ศิษยานุศิษย์ คุณงามความดีที่หลวงพ่อเปิ่นท่านได้กระทำไว้ในพระพุทธศาสนามากมาย
จะเป็นตำนานแห่งแผ่นดินสยามในทุกๆเรื่อง
เป็นเครื่องเตือนสติให้พุทธศาสนิกชนได้รู้จักและปฏิบัติสืบสานกันต่อไป.
Read more