“เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็น‘พญาเต่าเรือน’นามว่า “มหาจิตรจุล”เกิดเหตุพายุเข้าบริเวณเกาะที่อาศัย เรือสำเภาลำหนึ่งอับปาง ผู้คนที่ว่ายน้ำหนีตายมาอาศัยบนเกาะเป็นจำนวนมากต่างขาดอาหารและน้ำ จึงคิดทำร้ายพญาเต่า ในครั้งนั้นพญาเต่าโพธิสัตว์คิดว่า ...เมื่อชาวบ้านต่างเดือดร้อนถึงขนาดต้องคิดฆ่าตัวเราเพื่ออยู่รอด จึงมีจิตอนุเคราะห์กลิ้งตัวจากภูเขาหมายจะบริจาคทานด้วยเลือดและเนื้อของตน ... ผู้คนเหล่านั้นจึงได้อาศัยเนื้อมาบริโภค แล้วเอากระดองทำเป็นพาหนะกลับสู่บ้านเมืองอย่างปลอดภัย ภายหลังผู้คนเหล่านั้นระลึกถึงบุญคุณของพญาเต่าเรือน จึงวาดภาพไว้สักการบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล กาลต่อมาจึงได้มีการสร้างวัตถุมงคลรูปเต่าลงอักขระเลขยันต์ปลุกเสกและบูชาสืบทอดมาถึงปัจจุบันด้วยอานุภาพแห่งมหาทานอันยิ่งใหญ่ในครั้งนั้น”
พูดถึง “พญาเต่าเรือน” พระเกจิอาจารย์ที่จะถูกกล่าวขวัญถึงมากที่สุด ก็คือ หลวงปู่หลิว ปณฺณโกอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐมหนึ่งในเกจิอาจารย์ดังของจังหวัด ผู้เป็นเจ้าตำรับ ‘เหรียญพญาเต่าเรือน’อันเลื่องชื่อ
หลวงปู่หลิว เกิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ปี พ.ศ.2448 ณ บ้านหนองอ้อ ต.บ้านสิงห์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ในตระกูล "แซ่ตั้ง” ของนายเต่งและนางน้อย เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 9 คน ในวัยเด็กขณะที่เพื่อนๆ วิ่งเล่นซุกซนกันตามประสาเด็กนั้น ท่านกลับมองถึงความยากลำบากของครอบครัว จึงช่วยทางบ้านทำงานทำการพร้อมเรียนวิชาช่างไม้จากผู้เป็นบิดาไปด้วยเมื่อโตขึ้นท่านจึงมีความชำนาญทางช่างเป็นเลิศ นอกจากนี้ท่านยังสนใจศึกษาด้านยาสมุนไพรจนกลายเป็นหมอยาประจำหมู่บ้านและละแวกใกล้เคียง แต่แล้วชะตาชีวิตของท่านก็หักเหให้ต้องทิ้งบ้านเกิดเข้าป่าไปเรียนวิชาอาคมกับพระอาจารย์ชาวกะเหรี่ยงอยู่ถึง3 ปี ก่อนจะกลับมาปราบโจรผู้ร้ายที่รังแกครอบครัวจนพ่ายแพ้ แล้วท่านก็แยกตัวออกมาทำงานของตัวเอง และมีภรรยาชื่อนางหยดมีลูกชายด้วยกันหนึ่งคนจนอายุได้ 27 ปี ท่านเกิดความเบื่อหน่ายในชีวิตฆราวาส จึงตัดสินใจอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ วัดโบสถ์ อ.โพธาราม จ.ราชบุรี โดยมี หลวงพ่อโพธาภิรมย์ วัดบำรุงเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์ห่อ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "ปณฺณโก"จากนั้นกลับไปจำพรรษาที่วัดหนองอ้อ และเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมกับอาจารย์ชาวกะเหรี่ยงอีกครั้ง รวมทั้งหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จ.เพชรบุรี, พ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช และ หลวงพ่ออุ้ม จ.นครสวรรค์ รวมถึงคณาจารย์อีกหลายท่าน
ด้วยความที่หลวงปู่หลิวมีความชำนาญด้านงานช่าง ขณะที่จำพรรษาที่‘วัดหนองอ้อ’ เพื่อเรียนพระปริยัติธรรม ท่านก็ต้องไปสร้างศาลาการเปรียญให้‘วัดโคก’ จ.สุพรรณบุรี ต่อมาได้ย้ายไปจำพรรษาที่‘วัดร้าง’ ในหมู่บ้านท่าเสา เพื่อช่วยสร้างกุฏิและโบสถ์จนเสร็จ ในปีพ.ศ.2484 ได้รับนิมนต์ไปช่วยบูรณะ‘วัดสนามแย้’ จ.กาญจนบุรี จนวัดเจริญรุ่งเรือง จากนั้นไปสร้าง‘วัดไทรทองพัฒนา’ขึ้นใหม่ที่ ต.จระเข้เผือก อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี โดยในช่วงนั้นท่านได้เก็บสะสมเงินจากการบริจาคของญาติโยมไปสร้าง ‘วัดไร่แตงทอง’ที่ ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน ซึ่งเป็นบ้านเกิด ก่อนที่จะย้ายมาจำพรรษาและพัฒนาจนเป็นวัดใหญ่โตมีชื่อเสียง
นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างสำนักสงฆ์ประชาสามัคคี อ.บ้าน โป่ง จ.ราชบุรี และสถานีอนามัยบ้านไร่แตงทอง(หลวงปู่หลิว ปัณณโก อุปถัมภ์) เฉลิมพระเกียรติ ปี 2540 จนท้ายสุดกลับมาจำพรรษาที่วัดหนองอ้อในฐานะเพียงพระลูกวัด และมรณภาพลงเมื่อวันจันทร์ที่ 4 กันยายน ปี พ.ศ.2543 สิริอายุ 95 พรรษาที่74
หลวงปู่หลิวเป็นพระเกจิผู้ทรงอภิญญาและพุทธาคมสูงส่ง มีเมตตาบารมี ถือสันโดษ เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชน มีลูกศิษย์ลูกหามากมายทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ท่านได้ให้แง่คิดเกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีของท่านไว้ว่า "... ชีวิตการดำรงอยู่ในเพศแห่งบรรพชิตนอกจากจะต้องบำเพ็ญเพียรศึกษาธรรมปฏิบัติธรรมวินัย เพื่อนำไปประกาศเผยแผ่ให้แก่สาธุชนคนผู้ปรารถนาความสงบสุขทางจิตแล้ว เราในฐานะเป็นพระสงฆ์ เป็นพระ เป็นผู้นำทางด้านจิตใจและต้องมีส่วนในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญหูเจริญตา ทั้งทางจิตใจและสาธารณวัตถุ อันเป็นประโยชน์แก่คนหมู่ใหญ่ โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง การสร้างเสนาสนะวัดวาอารามเป็นการชักนำให้ประชาชนได้บำเพ็ญทานบารมี รู้จักทำบุญเข้าวัด มีศาสนสถานไว้ประกอบศาสนกิจ เพื่อให้อนุรักษ์วัฒนธรรม ศีลธรรมอันดีงามของไทยสืบไป ..."
การจัดสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อหลิวนั้นท่านเริ่มสร้างมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2500 ที่วัดสนามแย้ ในยุคแรกๆ ส่วนใหญ่จะเป็นพระเนื้อผง ต่อมามีการจัดสร้างในหลายรูปแบบทั้งเหรียญ, รูปหล่อลอยองค์, พระบูชา, พระสังกัจจายน์, พระปิดตา และเครื่องรางของขลังแต่ที่สร้างชื่อเสียงมากที่สุดคือ "เหรียญพญาเต่าเรือน" ซึ่งท่านศึกษาวิชานี้มาจากหลวงพ่อย่น วัดบ้านฆ้อง อ.โพธาราม จ.ราชบุรีลักษณะเป็นรูปเต่า มี 4 ขา ปลายหัวด้านบนจะมีหูติดลักษณะเดียวกับหูเหรียญ ส่วนรายละเอียดในตัวจะมีความแตกต่างกันไปตามรุ่น แต่ไม่ว่าจะเป็นรุ่นไหน ขอให้ท่านหลวงปู่หลิวปลุกเสกก็ล้วนมีประสบการณ์ครบถ้วน ทั้งคงกระพันชาตรี เมตตามหานิยม สู้คดีความ ทำมาค้าขาย และ โชคลาภ
ในปีพ.ศ.2548 หลังจากหลวงปู่หลิวมรณภาพแล้ว 5 ปี พระใบฎีกาสายชล จิตตกาโร เจ้าอาวาสวัดไร่แตงทองรูปปัจจุบันและศิษยานุศิษย์ ได้จัดสร้างรูปเหมือนหลวงปู่หลิว นั่งบนพญาเต่าเรือน องค์ใหญ่ พร้อมด้วยวิหารครอบเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความดี ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งที่ผู้เลื่อมใสศรัทธาต่างหลั่งไหลไปกราบสักการะขอพร บนบานศาลกล่าว และลอดใต้ตัวเต่า ด้วยความเชื่อว่าจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บและมีอายุยืนยาว นอกจากนี้ยังเช่าบูชาวัตถุมงคลหลวงพ่อหลิวด้วยกิตติศัพท์ลือเลื่องว่า จะมีโชคมีลาภ ค้าขายร่ำรวย และมีเมตตามหานิยมซึ่งล้วนได้รับประสบการณ์มาแล้วทั้งสิ้นครับผม
“คาถาขอลาภหลวงปู่หลิว” ตั้งนะโม 3 จบ
จะขอลาภหลวงปู่หลิวจะมะหาเถรา สุวรรณณะมามา ระชะมามา เพชรชะมามา อาหาระมามา ขาทะนียะมามา โภชะนียะมามา สัพเพชะนา พะหูชะนา สัพพะบูชา ภะวันตุ เม นะชาลีติ อาคัจฉัยยะ อาคัจฉาหิ แล้วต่อด้วย“คาถาพญาเต่าเรือน” นะมะภะทะ นาสังสิโม สังสิโมนา สิโมนาสัง โมนาสังสิ นะอุทะกะ เมมะอะอุอะ
1.TH01084TH3Z95B FLASH ขอขอบพระคุณท่าน ที่มาอุดหนุน
ท่านต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้น