วัดมังกรกมลาวาส หรือที่เราชอบเรียกว่า ‘วัดเล่งเน่ยยี่’ (หรือจะออกเสียงว่า ‘วัดเหล่งเหน่ยหยี่’ ก็ได้ แล้วแต่สำเนียง) ถ้าเรียกเป็นภาษาจีนกลางก็จะออกเสียงว่า ‘หลงเหลียนซื่อ’ สร้างขึ้นในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลือกชัยภูมิสร้างวัดบนเนื้อที่ 4 ไร่ 18 ตารางวา โดยให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี เจ้ากรมท่าซ้าย ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจีนดำเนินการก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2414 ใช้ระยะเวลาในการสร้างทั้งสิ้น 8 ปี เมื่อสร้างเสร็จจึงได้อาราธนา พระอาจารย์สกเห็ง มาเป็นเจ้าอาวาส และเลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายรูปแรกของประเทศไทย
วัดมังกรกมลาวาสใช้ผังแบบวัดจีน มีรูปแบบศิลปกรรมแบบจีนตอนใต้ ประกอบด้วยอาคารหลักคืออุโบสถตั้งอยู่ตรงกลาง ด้านหน้ามีวิหารจตุโลกบาล ด้านหลังเป็นวิหารบูรพาจารย์ ส่วนด้านซ้ายขวาก็มีวิหารอื่นๆ อีกหลายหลัง
เมื่อเดินเข้ามาจากถนนเจริญกรุง เราจะเจอกับทางเข้าหลักที่มุ่งไปยังพื้นที่ด้านใน แต่ก่อนเดินเข้าไป แหงนดูข้างบนสักนิดหนึ่ง มีป้ายจารึกชื่อวัด 2 ป้าย ป้ายแนวนอนเป็นภาษาไทย เขียนว่า ‘ทรงพระราชทานนาม วัดมังกรกมลาวาส’ พร้อมดอกบัวขนาบซ้ายขวา โดยผู้พระราชทานนามวัดแห่งนี้ก็คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ส่วนป้ายแนวตั้งเป็นภาษาจีน ซึ่งเป็นป้ายที่มีความสำคัญเพราะเป็นลายมือของพระอาจารย์สกเห็งผู้สร้างวัดแห่งนี้ ขนาบข้างมีป้ายแขวนคำกลอนคู่ภาษาจีน ฝั่งขวามีความหมายว่า มังกรบินร่อนลงแผ่นดิน ฝั่งซ้ายมีความหมายว่า ประทุมประทีปส่องสว่างกลางเวหา
ป้ายกลอนคู่นี้สร้างขึ้นในปีรัชศกกวางสู ปีที่ 5 ปีเถาะ หรือตรงกับ พ.ศ. 2422 บริเวณทางเข้ามีสิงโตอยู่ 2 ตัว ข้างหนึ่งเป็นตัวผู้ อีกข้างหนึ่งเป็นตัวเมีย วิธีสังเกตเพศของสิงโตนั้นไม่ยาก ถ้าตัวไหนมีลูกสิงโตนั่นคือสิงโตตัวเมีย ส่วนสิงโตตัวผู้จะมีลูกบอลอยู่ใต้อุ้งเท้าครับ
พอผ่านประตูเข้ามาก็เจอกับวิหารท้าวจตุโลกบาล หรือ ‘ซี่ไต่เทียนอ๊วง’ ประกอบด้วยเจ้าแห่งคนธรรพ์ ท้าวธตรฐถือพิณ เจ้าแห่งกุมภัณฑ์ ท้าววิรุฬหกถือร่ม เจ้าแห่งนาค ท้าววิรูปักษ์ถือดาบและงู และเจ้าแห่งยักษ์ ท้าวเวสสุวรรณถือเจดีย์ ซึ่งเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปตามวัดจีนต่างๆ ส่วนตรงกลางด้านหน้าเป็นรูปพระเมตไตรยโพธิสัตว์หรือพระศรีอริยเมตไตรยเวอร์ชันพระอ้วนตามที่นิยมในวัดจีน (พระอ้วนในวัดจีนไม่ใช่พระสังกัจจายน์นะครับ อย่าสับสน) ส่วนด้านหลังเป็นรูปพระเวทโพธิสัตว์ หรือสกันทะโพธิสัตว์ หันหน้าเข้าหาอุโบสถ
อุโบสถของวัดมังกรกมลาวาสประดิษฐานพระพุทธรูปประธาน 3 องค์ ประกอบด้วย ‘พระศรีศากยมุนี’ อยู่ตรงกลาง ฝั่งขวาเป็น ‘พระอมิตาภพุทธเจ้า’ พระธยานิพุทธเจ้าผู้สถิตอยู่ในดินแดนสุขาวดี (และเป็นที่มาของการพูด “อามิตาพุทธ” ที่พระถังซำจั๋งชอบพูดนั่นเองครับ) ส่วนฝั่งซ้ายเป็น ‘พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า’ พระพุทธเจ้าแห่งการแพทย์ โดยมี 18 อรหันต์ตั้งขนาบทั้งสองข้าง
และเนื่องจากเป็นอุโบสถจึงมีใบเสมาด้วยนะครับ ใบเสมาของวัดแห่งนี้ฝังอยู่ในกำแพงด้านนอกอุโบสถ บนใบเสมามีข้อความทั้งภาษาไทยและภาษาจีน ภาษาไทยมีข้อความเขียนว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ ๑๗ มี.ค. ๒๔๙๔” ส่วนภาษาจีน 4 ตัวมีความหมายว่า พระราชทานหินเสมา ซึ่งน่าจะมีความหมายเดียวกันกับข้อความภาษาไทยนั่นเอง
พอชมอุโบสถเสร็จ เราเดินไปทางขวาครับ วิหารหลังแรกคือวิหารที่ประทับของสารพัดเทพเจ้า ซึ่งตรงนี้เป็นจุดที่คนมาแก้ชงกัน เพราะเป็นสถานที่ประดิษฐาน ‘ไท่ส่วยเอี๊ย’ เทพผู้คุ้มครองชะตาชีวิต อย่างไรก็ดี ยังมีเทพเจ้าอื่นๆ เช่น ปึงเถ่ากงม่า ไฉ่สิ่งเอี๊ย (เทพเจ้าโชคลาภ) ฮั่วท้อหรือฮัวโต๋ (หมอเทวดา) ซึ่งถ้าใครมาในช่วงที่คนมาไหว้กันเยอะๆ บริเวณตรงนี้จะมีคนแน่นสักหน่อย แล้วก็มีของไหว้วางอยู่เต็มโต๊ะ
ส่วนถัดมาจริงๆ ยังมีวิหารอีกหลายหลัง ไม่ว่าจะเป็นวิหารพระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ วิหารเจ้าแม่กวนอิม จุดสำคัญที่อยากให้ไปชมคือวิหารที่อยู่ด้านหลังอุโบสถพอดี เป็นวิหารบูรพาจารย์ สถานที่ประดิษฐานรูปของพระอาจารย์สกเห็งหรือพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร ปฐมบูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งวัดแห่งนี้ และอีกจุดหนึ่งที่อยากให้ชมคือตู้ไม้คู่หนึ่งที่อยู่ด้านหน้าวิหารบูรพาจารย์ ภายในตู้เป็นที่เก็บพระพุทธรูปโบราณสมัยรัตนโกสินทร์นับสิบองค์ มีทั้งพระพุทธรูปครองจีวรปกติ พระพุทธรูปครองจีวรลายดอก และพระพุทธรูปทรงเครื่อง เรียกว่าถ้าคุณดูศิลปะจีนจนเบื่อแล้ว อยากเปลี่ยนบรรยากาศบ้างก็ลองมาดูพระพุทธรูปที่นี่ได้นะครับ
วัดนี้อาจจะดูแคบ แต่จริงๆ แล้วตัววัดกว้างพอดูเหมือนกัน แต่ถ้าช่วงที่คนมากันเยอะๆ โดยเฉพาะช่วงที่เขามาแก้ปีชงกันก็อาจจะแน่นสักหน่อย ดังนั้น ถ้าคุณไม่ได้อยากมาแก้ชง แต่อยากมาชมความงามของวัดนี้จริงๆ ก็แนะนำให้มาช่วงอื่นของปีนะครับ วัดมังกรกมลาวาสพร้อมต้อนรับทุกๆ ท่านเสมอ
ขอบคุณ อาจารย์เศรษฐพงษ์ จงสงวน นักวิชาการ
3.TH01084P1XFH0B FLASH ขอขอบพระคุณท่านที่มาอุดหนุนครับ
ท่านต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้น