พระสุพรรณหลังผาล กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.สุพรรณบุรี
อายุการจัดสร้างราว 700-800 ปี แตกกรุร่วมกับพระผงสุพรรณ และพระมเหศวร พระยอดนิยมในตำนานเมืองสุพรรณ
แรกเริ่มเดิมที พระสุพรรณหลังผาลนี้ เรียกกันว่า “พระพิจิตรหลังผาล” ยังไม่ทราบว่าทำไมจึงเรียกคำขึ้นต้นว่า “พิจิตร” ทั้งที่พระขึ้นกรุ ที่สุพรรณ ต่อมาจึงมีการเปลี่ยน คำขึ้นต้นชื่อให้สอดคล้องกับจังหวัดที่ขุดพบ คือ “พระสุพรรณหลังผาล”
เหตุที่เรียกว่า หลังผาล นั้น ก็เนื่องด้วยพระส่วนมากจะเป็นพิมพ์สองหน้า ด้านหน้าเป็นพิมพ์พระพุทธปางชนะมาร ส่วนด้านหลังของพระ ก็มักจะทำเป็นรูปองค์พระเล็กๆ อยู่ในกรอบสามเหลี่ยมลักษณะทรง ดูคล้ายๆกับ ผาลไถนา และมีเดือยต่อลงมาจากตัวผาลสั้นบ้างยาวบ้างต่างกันไปด้วย จึงนิยมเรียกกันมาจนถึงปัจจุบันว่า “พระสุพรรณหลังผาล”
พระสุพรรณหลังผาลนี้ จากที่ขุดค้นพบนั้น ด้านหน้าจะเป็นพระพิมพ์เดียวกัน แต่มีลักษณะด้านหลังด้วยกันหลายแบบ เช่น พระสุพรรณหลังเรียบ ก็คือพิมพ์หลังเป็นแบบเรียบๆ / พระสุพรรณหลังผ้า ด้านหน้าใช้พิมพ์เดียวกัน ส่วนด้านหลังเป็นรอยลายผ้าเนื้อค่อนข้างหยาบ / พระสุพรรณหลังซุ้มระฆัง ด้านหลังก็เป็นรูปพระแบบซุ้มระฆัง / พระสุพรรณหลังยันต์ พิมพ์นี้ด้านหลังคล้ายกับหลังผาล แต่มีตัวอักขระยันต์เพิ่มเติมอยู่รอบๆองค์
พระทั้งหมดในตระกูลพระสุพรรณหลังผาลนั้น จะเป็นพระเนื้อชินเงิน
พระสุพรรณพิมพ์หลังผาลนั้น พบว่ามีจำนวนมากกว่าพิมพ์แบบอื่นๆ จึงนิยมเรียกขาน และรู้จักกันในชื่อ “พระสุพรรณหลังผาล” สำหรับขนาดขององค์พระ จะกว้างราว 2.5 ซ.ม. สูงราว 5 ซ.ม. ส่วนพระสุพรรณหลังยันต์จะมีขนาดเล็กกว่าพิมพ์อื่นๆเล็กน้อย
พุทธศิลปะ จะเป็นรูปแบบของศิลปะใน ยุคสมัยอู่ทอง
สำหรับในเรื่องของพุทธคุณนั้น จะได้รับการยอมรับมาแต่อดีตว่า โดดเด่นทางด้านแคล้วคลาด ปลอดภัย และคงกระพันชาตรี ทั้งรูปหลังผานก็เป็นสัญลักษณ์มงคลของความอุดมสมบูรณ์ด้วยผลิตผลและพืชพันธุ์อาหาร
ปัจจุบัน จะก็หาชมองค์พระสวยๆ ได้ยากมาก สนนราคาก็จัดว่าสูงพอสมควร สำหรับของปลอมเลียนแบบนั้นก็มีการทำปลอมกันมานานแล้ว เนื่องจากเป็นที่นิยมมากในสมัยก่อน การเช่าหา จึงต้องพิจารณาดีๆ หรือเช่าหาจากผู้ที่ไว้วางใจได้
ท่านต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้น