วัดประสาทบุญญาวาส เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.2376 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) เดิมชื่อ วัดคลองสามแสน เพราะอยู่ใกล้กับคลองสามแสน (ปัจจุบันเรียก คลองสามเสน) แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดขวิด เนื่องจากบริเวณที่ตั้งวัดมีต้นมะขวิดมาก จนกระทั่งปี พ.ศ.2487 ได้เปลี่ยนชื่อวัดอย่างเป็นทางการว่า “วัดประสาทบุญญาวาส”
วัดประสาทบุญญาวาส มาเป็นที่รู้จักในกลุ่มผู้นิยมสะสมพระเครื่องและวัตถุมงคลอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะ “พระหลวงปู่ทวด” สืบเนื่องจากในปี พ.ศ.2498 วัดถูกเพลิงเผาผลาญครั้งใหญ่ เสนาสนะหลายหลังและอุโบสถหลังเดิมก็ถูกไฟไหม้เสียหายไปส่วนหนึ่ง เจ้าอาวาสในขณะนั้นคือ พระครูสมุห์อำพล พลวฑฺฒโน จึงมีความคิดที่จะสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นมาแทนที่หลังเดิม
และในคืนหนึ่ง พระอาจารย์ทิม เจ้าอาวาสวัดช้างไห้ ได้นิมิตถึง ‘หลวงปู่ทวด’ โดยบอกให้ท่านไปช่วยบูรณะวัดประสาทบุญญาวาส ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากถูกไฟไหม้ พระอาจารย์ทิมจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง โดยเข้าพักที่วัดเอี่ยมวรนุช และได้รับการยืนยันว่า ‘วัดประสาทบุญญาวาส’ ถูกไฟไหม้จริงดังนิมิตของท่าน พระอาจารย์ทิมจึงได้เดินทางไปยังวัดประสาทบุญญาวาส ปรึกษากับพระสมุห์อำพล เรื่องบูรณะวัดขึ้นมาใหม่
ในปี พ.ศ.2502 พระอาจารย์ทิม ได้นำ ‘พระหลวงปู่ทวดรุ่นหลังตัวหนังสือปี พ.ศ.2505’ มามอบให้เพื่อถอดเป็นแม่พิมพ์ รวมทั้งมอบมวลสารของ ‘หลวงพ่อทวด วัดช้างไห้ รุ่นแรก ปี 2497’ และ ‘ว่านแร่ดินกากยายักษ์’ ให้แก่ทางวัดประสาทบุญญาวาส เพื่อเป็นส่วนผสมในการจัดสร้างวัตถุมงคล นอกจากนี้ พระครูบริหารคุณวัตร เจ้าอาวาสวัดใหม่อมตรสในขณะนั้น ก็ได้มอบ ‘พระสมเด็จบางขุนพรหม’ ที่แตกหักชำรุดจากการเปิดกรุ ในปี พ.ศ.2500 ให้แก่ทางวัดประสาทบุญญาวาส เพื่อเป็นส่วนผสมในการจัดสร้างวัตถุมงคลอีกจำนวนหนึ่งด้วย
จุดประสงค์ในการสร้าง “พระหลวงปู่ทวด” นี้นั้น ทางวัดได้จัดสร้างขึ้นเพื่อนำมาบรรจุในพระเจดีย์จำนวน 84,000 องค์ และเพื่อเป็นของสมนาคุณแก่ผู้มีจิตศรัทธาในการบริจาคทรัพย์ และก็ยังได้สร้างพระเพิ่มขึ้นอีกครั้งในต้นปี พ.ศ.2506 เพื่อจุดประสงค์เดิมและเพื่อแจกเป็นของสมนาคุณให้แก่ผู้ที่ไปปิดทองพระที่หล่อขึ้นใหม่และพระพุทธบาทจำลองด้วย ด้านพิธีกรรมและการปลุกเสกพระก็จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่มากๆ ในพิธีพุทธาภิเษกมีพระเกจิคณาจารย์ผู้ทรงพุทธาคมชื่อดังในยุคนั้นร่วมปลุกเสกมากถึง 234 รูป เรียกว่าเป็นพิธีปลุกเสกวัตถุมงคลที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ที่สุดนับตั้งแต่พิธีปลุกเสกพระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษทีเดียว เท่าที่รวบรวมได้มีอาทิ อาจารย์ทิม วัดช้างไห้, หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขัน, หลวงพ่อดิษฐ์ วัดปากสระ, หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา, หลวงพ่อใจ และหลวงพ่อพล วัดวังยายหุ่น, หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ, หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่, หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม, หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค, หลวงพ่อทบ วัดชนแดน, หลวงปู่ทิม วัดละหารไร่, หลวงปู่เขียว วัดหรงมล, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก, หลวงปู่ดู่ วัดสะแก, หลวงปู่สี วัดสะแก, หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง, หลวงปู่นาค วัดระฆังฯ, หลวงปู่หิน วัดระฆังฯ, หลวงพ่อโบ๊ย วัดมะนาว, พระอาจารย์นำ วัดดอนศาลา, หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยา, หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลย์, หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม, หลวงพ่อหน่าย วัดบ้านแจ้ง, หลวงพ่อบุญมี วัดเขาสมอคอน, หลวงพ่อเหรียญ วัดบางระโหง, หลวงปู่เพิ่ม วัดกลางบางแก้ว, หลวงพ่อครื้น วัดสังโฆ, หลวงพ่อแช่ม วัดนวลนรดิษฐ์, หลวงพ่อนอ วัดกลางท่าเรือ, หลวงพ่อผล วัดเทียนดัด, หลวงพ่อโด่ วัดนามะตูม, หลวงพ่อชื้น วัดญาณเสน, หลวงพ่อสุด วัดกาหลง, หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี, หลวงพ่อกี๋ วัดหูช้าง, หลวงพ่อแก้ว วัดช่องลม, หลวงพ่อกัน วัดเขาแก้ว, หลวงพ่อทองอยู่ วัดใหม่หนองพะอง, หลวงพ่อฑูรย์ วัดโพิ์นิมิต, เจ้าคุณเจีย วัดโพธิ์, เจ้าคุณประหยัด วัดสุทัศน์, หลวงพ่อดี วัดเหนือ, หลวงพ่อแขก วัดหัวเขา, หลวงพ่อยิ้ม วัดเจ้าเจ็ด, หลวงพ่อทองสุข วัดสะพานสูง หลวงพ่อมิ่ง วัดกก, หลวงพ่อเฮี้ยง วัดป่าฯ, หลวงพ่อจวน วัดหนองสุ่ม, หลวงพ่ออั้น วัดพระญาติ, หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช, หลวงพ่อสอน วัดเสิงสาง, หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน, หลวงพ่อเทียน วัดโบสถ์, หลวงพ่อนิล วัดครบุรี และ หลวงพ่อบุดดา วัดกลางชูศรี เป็นต้น
หลวงปู่ทวด วัดประสาทบุญญาวาส ช่วงปี พ.ศ. 2505 - 2506 นับเป็นวัตถุคลที่ได้รับการยอมรับจากนักสะสมพระโดยถ้วนหน้า เนื่องด้วยสุดยอดในเรื่องมวลสาร มีเจตนาการสร้างอันบริสุทธิ์ และพิธีกรรมการปลุกเสกที่ยิ่งใหญ่ครับผม
ปิดท้ายกันด้วยเรื่องที่หลายๆ ท่านถามไถ่กันมาว่า “หลวงปู่ทวด วัดประสาทบุญญาวาส เนื้อลังเม้ง เป็นอย่างไร” ก็ขออธิบายความว่า การกดพิมพ์ หลวงปู่ทวด วัดประสาทบุญญาวาส เป็นการกดพิมพ์ด้วยมือ และมีการดำเนินการด้วยกันหลายกลุ่ม ในแต่ละกลุ่มก็ทำเนื้อมวลสารที่ผสมไว้แตกต่างกัน สำหรับ “เนื้อลังเม้ง” ถือว่าเป็นการผสมเนื้อพระที่เข้าสูตรสำหรับการสร้างพระเครื่องประเภทเนื้อผสมผสาน ทั้ง กล้วยน้ำว้า ปูนขาว น้ำมันตังอิ๊ว ซึ่งแร่ที่ผสมในเนื้อและโรยบนผิวของพระจะมีขนาดใหญ่และหยาบ ส่วนมากเนื้อของพระจะเป็นพระเนื้อว่านผสมผงและเนื้อผง โทนสีของพระออกไปในทางสีเทาอ่อนอมเหลือง โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ เนื้อแก่ว่าน เนื้อว่านเทาอมเหลือง และสีเทาอมเหลืองเข้ม ส่วนคำว่า "ลังเม้ง" นั้น ที่มาคือ ในสมัยแรกเริ่มพิมพ์พระใส่ถาดตากจนแห้ง แต่สำหรับเซ็ทนี้ หลังจากผึ่งพระจนแห้งแล้ว ได้บรรจุในลังไม้ฉำฉา ซึ่ง "นายเม้ง" พ่อค้าผลไม้ในตลาด ผู้มีความคุ้นเคยกับพระครูสมุห์อำพล เป็นผู้นำมามอบให้ ซึ่งแรกๆ ก็เรียกกันว่า "พระในลังเฮียเม้ง" ตัดไปตัดมากลายเป็น "ลังเม้ง" ในที่สุดครับผม
EG 3654 1671 7 TH ขอขอบคุณท่านที่มาอุดหนุนครับ
ท่านต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้น