หลวงพ่อเนียม วัดน้อย พระเกจิชื่อดังแห่งจังหวัดสุพรรณบุรี นับเป็นหนึ่งในอมตเถระแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงพุทธาคมแก่กล้า แม้ท่านจะละสังขารไปแล้วกว่า 100 ปี แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณยังคงปรากฏให้รำลึกถึงสืบมาชั่วลูกชั่วหลานจวบจนปัจจุบัน
หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ มีความชำนาญทางวิปัสสนาธุระ สำเร็จวาโยกสิณ มีอภิญญาสูงส่ง เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั่วหล้า แม้ สมเด็จพระสังฆราช (แพ ติสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม, หลวงปู่บุญวัดกลางบางแก้ว และหลวงพ่อทับ วัดทอง ยอดพระเกจิชื่อดังยังให้ความเคารพนับถือ และมีพระเครื่องของท่านสะสมไว้
ยังเป็นปรมาจารย์ของพระอมตเถระหลายรูป อาทิ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน, หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นต้น เชื่อกันว่า “วิชาธรรมกาย” ของสายหลวงพ่อสด และ “วิชามโนมยิทธิ” ของสายหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ ก็มีต้นกำเนิดมาจากหลวงปู่เนียม ที่รับช่วงกันมา
ท่านเป็นคนบางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี โดยกำเนิด เกิดเมื่อปี พ.ศ.2372 ตอนเด็กร่ำเรียนอักขรวิธี และภาษาบาลีที่วัดใกล้บ้าน เมื่ออายุครบบวชได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดป่าพฤกษ์ หรือวัดตะค่า ไม่เป็นที่แน่ชัด
จากนั้นเดินทางเข้าสู่เมืองบางกอก หรือกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย มูลกัจจายนสูตร วิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาอาคมจากสำนักต่างๆ ซึ่งไม่ปรากฏแน่ชัดเช่นกันว่าท่านพำนักอยู่ที่วัดใดและเป็นศิษย์สำนักใด บ้างก็ว่าอยู่วัดพระพิเรนทร์ บ้างก็ว่าวัดโพธิ์ วัดทองธรรมชาติ หรือวัดระฆังโฆสิตาราม
แต่ในสมัยนั้นถ้าจะกล่าวถึงพระเกจิผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาต้องยกให้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ, หลวงปู่ช่วง วัดรังสี (ปัจจุบันรวมเป็นวัดเดียวกับวัดบวรฯ), หลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ และหลวงปู่จันทร์ วัดพลับ
หลวงพ่อเนียม นับเป็นยอดแห่งพระนักปฏิบัติธรรม ยอดแห่งวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคม จนพระเกจิอาจารย์มากมายดั้นด้นเข้าฝากตัวเป็นศิษย์ เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2452 สิริอายุได้ 80 ปี 60 พรรษา ในงานประชุมเพลิง สมเด็จพระสังฆราช (แพ) สมัยดำรงตำแหน่งพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี และหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ยังได้มาร่วมงานด้วย
ด้าน “วัตถุมงคล” ที่หลวงพ่อเนียมสร้างขึ้น เพื่อแจกศิษยานุศิษย์และญาติโยมนั้น มีมากมายหลายแบบหลายพิมพ์ โดยสร้างเป็นเนื้อชินตะกั่วผสมปรอท ซึ่งการทำให้ปรอทแข็งตัวในสมัยนั้นไม่ใช่ของง่ายๆ ว่ากันว่าต้องใช้คาถาอาคมและต้องมีส่วนผสมเฉพาะ
ที่สำคัญต้องทำในฤดูฝน เพราะใบแตงหนูจะขึ้นเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมสำคัญอย่างใบสลอดและข้าวสุก หลวงพ่อจะนำของสามอย่างมาโขลกปนกันเป็นการไล่ขี้ปรอทออกให้หมด เพื่อให้ได้ปรอทที่ขาวที่สุด ซึ่งจะต้องโขลกและกวนส่วนผสมอยู่ถึง 7 วันจึงจะเข้ากันดี
พอครบ 7 วัน ก็นำส่วนผสมไปตากแดด แล้วนำมากวนต่อจนเข้ากันดี เสร็จแล้ว จึงนำมาแยกชั่งเป็นส่วนส่วนละ 1 บาท (ขนาดเหรียญบาท) จากนั้นนำไปใส่ครกหิน เติมกำมะถัน และจุนสีโขลกให้เข้ากัน ซึ่งต้องทำตอนกลางคืน ทำอยู่เช่นนั้น 3 คืน
แล้วจึงนำปรอทใส่ลงไปในกระปุกเหล้า เกาเหลียง ผสมกับตะกั่วเอาเข้าไปสุมอยู่ อีก 7 วัน โดยจะสุมไฟเฉพาะตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนจะทำพิธีปลุกเสกด้วยพระคาถาอาคม พอครบ 7 ไฟ ก็เทลงแม่พิมพ์จึงได้พระตามต้องการ
วัตถุมงคลของท่านแม้รูปทรงจะดูไม่สวยงาม แต่เรื่องพุทธคุณโดดเด่นยิ่งนัก ทั้ง แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และเมตตามหานิยม ที่เป็นที่นิยมมีอาทิ พิมพ์งบน้ำอ้อย พิมพ์มารวิชัยเศียรโล้น และพิมพ์เศียรแหลม โดยเฉพาะ “พระพิมพ์งบน้ำอ้อย” ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็กนั้น ได้รับความนิยมสูงสุด
ปัจจุบันค่านิยมค่อนข้างสูงมาก และมีการทำเลียนแบบมากที่สุดครับผม
ท่านต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้น