“เหรียญพระชัยหลังช้าง หลัง ภปร ปีพ.ศ.2530” ในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ 60 พรรษา ในปีพ.ศ.2530 นับเป็นเหรียญมหามงคลอันทรงคุณค่า ที่งดงามทั้งพุทธศิลป์และล้ำเลิศในพุทธคุณยิ่ง
ในปีพ.ศ.2530 ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งปวงชนชาวไทยทั่วประเทศต่างพร้อมใจกันร่วมถวายความจงรักภักดี โดยประกอบกิจกรรมต่างๆ มากมายเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ไม่เว้นแม้ทางคณะสงฆ์ โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร) วัดสามพระยา เป็นประธานในนามคณะสงฆ์ทั้ง 2 นิกาย ร่วมกันจัดสร้าง “เหรียญพระชัยหลังช้าง หลัง ภปร” ขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และเปิดโอกาสให้ปวงชนชาวไทยได้ร่วมบุญเช่าบูชา รายได้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศล
เหรียญพระชัยหลังช้าง หลัง ภปร ปีพ.ศ.2530 จัดสร้างเป็นเนื้อทองคำ, เนื้อเงิน และเนื้อกะไหล่ทอง ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงกลม รูปไข่ หูห่วง ด้านหน้า ประดิษฐานรูปพระชัยวัฒน์ ที่เรียกกันว่า “พระชัยหลังช้าง” ด้านหลังเป็นพระปรมาภิไธย “ภปร” มีอักษรปรากฏบนเหรียญว่า “๕ ธันวาคม ๒๕๓๐” และ “คณะสงฆ์สร้างในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ”
ประกอบพิธีพุทธาภิเษก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งนับเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่และเข้มขลังสุดๆ ในยุคนั้นทีเดียว โดยมีพระเกจิผู้ทรงคุณวิเศษเกือบ 80 รูป เข้าร่วมพิธีปลุกเสกอธิษฐาน
ประการสำคัญคือ มีสมเด็จพระสังฆราชถึง 2 พระองค์ อันได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) วัดราชบพิธฯ และสมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศวิหาร ที่ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 ในปีพ.ศ.2532
มีสมเด็จพระราชาคณะ ประกอบด้วย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา, สมเด็จพระวันรัต วัดโสมนัสวิหาร, สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดปทุมคงคา และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) วัดสระเกศ เมื่อครั้งเป็นที่ “พระพรหมคุณาภรณ์”
นอกจากนี้ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งยุคจากทั่วประเทศได้รับนิมนต์เข้าร่วมพิธีปลุกเสกอธิษฐานจิต อาทิ หลวงพ่อแพ วัดพิกุลทอง จ.สิงห์บุรี, พระมหาวีระ ถาวโร (หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ) วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี, หลวงพ่อชื้น วัดญาณเสน จ.พระนครศรีอยุธยา, พระครูสันติ วรญาณ (สิม) วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่, พระอุดมสังวรเถร (อุตตมะ) วัดวังก์วิเวการาม จ.กาญจนบุรี, พระครูฐาปนกิจสุนทร (เปิ่น) วัดบางพระ จ.นครปฐม, หลวงปู่ม่น วัดเนินตาหมาก จ.ชลบุรี, พระครูเกษมธรรมนันท์ (แช่ม) วัดดอนยายหอม จ.นครปฐม, พระครูปริมานุรักษ์ (พูล) วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม ฯลฯ
ด้วยเจตนาการจัดสร้าง พุทธศิลป์อันงดงาม และพิธีกรรมที่เข้มขลังสมพระบารมี ส่งให้ได้รับการจองและเช่าบูชาจนหมดในเวลารวดเร็ว
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) วัดสามพระยา กรุงเทพฯ ยังได้ลิขิตไว้ว่า “เหรียญพระชัยหลังช้าง หากอยู่กับบ้านก็คุ้มบ้าน หากอยู่กับตัวก็คุ้มตัว” และเพื่อเป็นการยืนยันคำพูดดังกล่าว ท่านจึงได้จัดพิมพ์หนังสือเรื่อง “ปรากฏการณ์อันน่าพิศวงเกี่ยวด้วยเหรียญพระชัย (หลังช้าง)” โดยรวบรวมเรื่องราวจากผู้ที่ได้รับประสบการณ์จากเหรียญนี้มากมายหลายท่าน นอกจากนี้ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ แห่งวัดท่าซุง ท่านยังเคยปรารภแก่ลูกศิษย์ลูกหาไว้ว่า “…เหรียญพระชัยหลังช้างนี้ เป็นหนึ่งในพระดีที่น่าบูชาไว้ติดตัว เพราะมีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์แท้จริง”
ท่านต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้น