เหรียญพัดยศ พ.ศ.2522หลวงปู่เทียม สิริปัญโญวัดกษัตราธิราช อยุธยา “หลวงปู่เทียม สิริปัญโญ” หรือ “พระวิสุทธาจารเถร” วัดกษัตราธิราชวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา พระเถระที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิปัสสนากัมมัฏฐาน และเป็นพระนักพัฒนา ที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธา วัตถุมงคลที่จัดสร้างปลุกเสก โดยเฉพาะเหรียญคณาจารย์และตะกรุด มีพุทธคุณรอบด้าน เป็นที่เลื่องลือ บรรดาลูกศิษย์ลูกหาต่างนับถือบูชา นำไปเก็บไว้ติดตัวเป็นสิริมงคล สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2522 เพื่อเป็นที่ระลึกครั้งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระ ในราชทินนามที่พระวิสุทธาจารเถร แจกเป็นที่ระลึก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2522 ให้กับผู้ที่มาร่วมงานมุทิตาจิต ลักษณะเหรียญเป็นรูปเหมือนของพิมพ์พัดยศทรงพุ่มข้าวบิณฑ์
ด้านหน้า เป็นรูปหลวงพ่อเทียมเต็มองค์ นั่งสมาธิอยู่บนโต๊ะขนาดเล็กฐานเตี้ย รูปหลวงพ่อเทียมห่มจีวรลดไหล่ พาดผ้าสังฆาฏิ รัดประคด ใต้โต๊ะมีชื่อเขียนว่า “หลวงพ่อเทียม” เหนือศีรษะองค์หลวงพ่อมียันต์อุณาโลม ขอบเหรียญเป็นลายกระหนก ด้านหลัง ขอบเหรียญเป็นลายกระหนกเช่นเดียวกัน กลางเหรียญเป็นยันต์นะเมตตา โดยมีตัวอักขระ “อุ อิ อะ อิ” ล้อมรอบ นอกจากนี้ ยังมีตัวหนังสือเขียนว่า “อนุสรณ์ พระวิสุทธาจารเถร เจ้าอาวาสองค์ที่ ๘ วัดกษัตราธิราช” ล้อมรอบตัวอักขระอีกชั้น
จัดสร้างเหรียญเป็นเนื้อทองแดงรมดำ ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร สูง 4.5 เซนติเมตร เหนือเหรียญ มีรูห่วงติดอยู่ด้านบนสวยงาม จำนวนการสร้างไม่ระบุชัดเจน แต่คาดว่าเป็นจำนวนหลักพัน นับเป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายที่หลวงปู่เทียมนั่งอธิษฐานจิต
อัตโนประวัติ เกิดเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2447 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นชาวพระนครศรีอยุธยาโดยกำเนิด เกิดที่บ้านหมู่ 7 ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ในตระกูล “หาเรืองศรี” อายุ 10 ขวบ เรียนหนังสือกับพระภิกษุมอน ผู้เป็นน้าชาย และอาจารย์ปิ่น พร้อมกับเรียนวิชาช่างเขียน ช่างสลักไปด้วย จากนั้นไปเป็นศิษย์อาจารย์จันทร์เรียนภาษาขอม อายุ 20 ปี อุปสมบทที่วัดกษัตราธิราช มีพระครูวินยานุวัติคุณ (มาก อินทโชติ) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระสมุห์กล่ำ วัดกษัตราธิราช เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์ทองดี วัดพระงาม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ศึกษาพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดเสนาสนาราม 2 พรรษา ฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐานกับหลวงพ่อศรี วัดสนามไชย, พระอาจารย์จาบ วัดโบสถ์ อ.มหาราช แล้วกลับมาศึกษากับพระอาจารย์เหม็ง วัดประดู่ทรงธรรม พรรษาที่ 9 กลับมาอยู่วัดกษัตราธิราช โดยนำตำราพิชัยสงคราม ตำรามหาระงับพิสดารและตำราเลขยันต์อื่นๆ ติดตัวมาด้วย พ.ศ.2496 พระครูไพจิตรวิหารการ (บัว) ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทน และเป็นเจ้าอาวาสในปีเดียวกัน ลําดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2508 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูพิพิธวิหารการ พ.ศ.2514 เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นโท ในราชทินนามเดิม พ.ศ.2517 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม พ.ศ.2522 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่ “พระวิสุทธาจารเถร” ลำดับงานปกครอง พ.ศ.2509 เป็นเจ้าคณะตำบลภูเขาทอง พ.ศ.2520 เป็นเจ้าอาวาสวัดกษัตราธิราช พระอารามหลวงชั้นตรี เป็นพระนักพัฒนาที่ปฏิบัติหน้าที่การงานโดยเด็ดขาด ตลอดชีวิตท่านฝักใฝ่อยู่ในวิปัสสนาธุระ ตั้งอยู่ในพรหมวิหารธรรม ผลงานของท่านมีครบครันทุกด้าน ทั้งการปกครอง การเผยแผ่ และการพัฒนา โดยเฉพาะงานก่อสร้างที่ส่วนใหญ่จะลงมือทำด้วยตัวเอง ที่ปรากฏเป็นอนุสรณ์เป็นคุณูปการแก่ชาติและพระศาสนา คือ การจัดตั้งศูนย์ฝึกวิชาชีพวัดกษัตราธิราช ตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงห่วงใยในศิลปกรรมไทยและวิชาชีพเชิงหัตถศิลป์ มีความคิดริเริ่มและแสวงหาเอกลักษณ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา มักจะเปรียบเอาธรรมะกับช่าง ให้พิจารณา โดยเปรียบช่างสิบหมู่เป็น “นาถกรณธรรม” หรือธรรมอันเป็นที่พึ่ง 10 อย่าง ที่ท่านได้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ด้านวัตถุมงคล สร้างขึ้นเพื่อแจกเป็นส่วนใหญ่ ที่ได้รับความนิยมได้แก่ ตะกรุดมหาระงับแบบพิสดาร ตำรับวัดประดู่ทรงธรรม, เหรียญรุ่นงานสมโภชวัดกษัตราธิราช, รุ่นสิทธิโชค และรุ่นนิมิตบารมี ฯลฯ วัตรปฏิบัติสมถะถือสันโดษ ไม่ยึดถือสิ่งใดทั้งสิ้น ในวันมรณภาพ จึงไม่มีสมบัติล้ำค่าใดๆ นอกจากอัฐบริขารอย่าง บาตร กลด ผ้ากรองน้ำ ผ้าอาบน้ำฝน ใบมีดโกน พร้อมทั้งสังขารที่สงบนิ่ง จากไปอย่างสงบ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2522 สิริอายุ 75 ปี พรรษา 55
|