เริ่มต้นสมัยรัตนโกสินทร์ในปี พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ต้นพระบรมราชวงศ์มหาจักรี ทรงขึ้นครองราชย์และสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์หรือกรุงเทพมหานครเป็นราชธานีของสยามประเทศ เวลาส่วนใหญ่ของพระองค์ทรงทุ่มเทให้กับการสร้างบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองก่อน รวมถึงการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาโดยโปรดเกล้าฯ ให้อาราธนาพระพุทธรูปจากเมืองเหนือมาปฏิสังขรณ์ใหม่ แล้วนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถตามพระอารามต่างๆ ถึง 1,248 องค์ พระพุทธรูปในสมัยนั้นจึงมีทั้งศิลปะสุโขทัย อู่ทอง และอยุธยา ยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูปประจำยุคสมัยขึ้น จนมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงได้มีการริเริ่มสร้างพระพุทธรูปขึ้น เป็นการเริ่มต้นของ "พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์" คติการสร้างพระพุทธรูปหรือพระเครื่องในสมัยโบราณนั้น เป็นการสร้างเพื่อกุศลบุญต่อไปในภพหน้าและเพื่อสืบสานพระพุทธศาสนาโดยนิยมสร้างให้ครบจำนวน 84,000 องค์เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ แล้วบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ หรือใต้ฐานพระประธาน เป็นต้น ดังจะเห็นว่า การขุดค้นพบพระพุทธรูปและพระเครื่องในยุคต่างๆ มักพบในสถานที่ดังกล่าวแล้วทั้งสิ้น แต่สำหรับ "พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์" นั้น พุทธศาสนิกชนนิยมสร้างเพื่อไปถวายตามวัดวาอารามมากกว่าการนำไปบรรจุกรุพระเจดีย์ จนมาถึงปัจจุบันการสร้างพระพุทธรูปได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยทางวัดจะกลับเป็นผู้สร้างพระพุทธรูปตลอดจนพระเครื่องให้พุทธศาสนิกชนที่เคารพศรัทธาได้เช่าบูชา เพื่อนำรายได้มาทำนุบำรุงและบูรณปฏิสังขรณ์วัด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือวัตถุประสงค์หรือฝ่ายใดสร้างพระพุทธรูปและพระเครื่องก็ตาม ก็ล้วนแต่เป็นหนทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น
พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ส่วนใหญ่เป็นการเลียนแบบพระพุทธรูปจากสมัยต่างๆ มาผสมผสานกันทั้งสมัยสุโขทัยและสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสังเกตได้จากพระศกจะละเอียด พระเกตุมาลาคล้ายอุณาโลมเป็นเปลวสูง พระสังฆาฏิยาว แต่ก็ทรงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง นอกจากนั้น ช่างฝีมือของไทยก็มีพัฒนาการทางด้านศิลปกรรมขึ้นมาก เช่น การหล่อพระพุทธรูปด้วยโลหะ การปั้นด้วยดิน การแกะด้วยไม้ เป็นต้น พุทธลักษณะจะเป็นการแสดงพระอิริยาบถต่างๆ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกองค์สำคัญๆ หรือแสดงปางต่างๆ นั่นเอง มีอาทิ ปางนาคปรก ปางไสยาสน์ ปางอุ้มบาตร พระสังกัจจายน์ พระสีวลี ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเป็นเทวรูปขึ้นอีกด้วย เนื่องจากได้รับอิทธิพลเกี่ยวกับคติการสร้างสืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมีความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์มีความยิ่งใหญ่มาก การสร้างพระพุทธรูปจึงต้องทรงเครื่องอย่างอลังการ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงพระราชอำนาจในฐานะของธรรมราชาด้วย ดังนั้น "พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์" จึงมีเครื่องประดับตกแต่งองค์พระที่วิจิตรพิสดารมาก ทั้ง จีวรลายดอกดวงหรือที่เรียกกันว่า "จีวรแพร", ทรงชฎา, สร้อยสังวาล, กำไล, ปั้นเหน่ง เป็นต้น บางองค์จะมีฉัตรเป็นชั้นๆ ประกอบอีกด้วย ส่วนเอกลักษณ์สำคัญที่จะใช้เป็นหลักในการพิจารณาพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์คือ การลงรักปิดทองบนองค์พระ รวมถึงการฝังพลอย, มุก, กระจก หรือสีลงยา ในส่วนที่เป็นเครื่องทรงหรือที่ฐานของพระ
พระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ในอดีตไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก เนื่องด้วยความเก่าแก่ไม่เข้าขั้นเหมือนพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย อู่ทอง หรือทวารวดี ฯลฯ แต่ในปัจจุบันพุทธศาสนิกชนหันมาให้ความนิยมสะสมกันอย่างกว้างขวาง อาจสืบเนื่องจากพระพุทธรูปเก่าแก่ในยุคสมัยอื่นๆ นั้นหาดูหาเช่าได้ยากมาก กอปรกับพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์นั้นมีพุทธศิลปะและสีสันสวยสดงดงามและเป็นพระพุทธรูปที่สื่อถึงคติพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างชัดเจนที่สุดสมัยหนึ่งครับผมในการสร้างสรรค์งานศิลปะแห่ง 'พระพุทธรูปทรงเครื่อง' ที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในสมัยรัตนโกสินทร์ครับผม
2.TH31014QWAS54E FLASH ขอขอบพระคุณท่าน ที่มาอุดหนุนครับ
ท่านต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้น