พระปิดตาหลวงพ่อทองอยู่ วัดบางหัวเสือ เนื้อตะกั่ว(หายาก) สร้างราวปี 249...กว่าๆ
พระปิดตาหลวงพ่ออยู่ วัดบางหัวเสือ จ.สมุทรปราการ ปี๒๔๙กว่า สุดยอดแห่งความหายาก คนในพื้นที่รู้กิตติศัพย์กันดี เรื่องแคล้วคลาดคงกระพันไม่ต้องพูดถึง นักเลงยุคเก่าถึงกับเพ้อหา ในสนามพระยังไม่มีพระให้หมุนเวียนเลย โดยเฉพาะเนื้อเมฆพัดและเนื้อตะกั่ว ในสมัยรุ่นคุณพ่อยังหนุ่มมีงานประกวดแทบทุกงาน แต่ในระยะหลังพระเริ่มสูญหายไปกับกาลเวลา คนส่งเข้าประกวดน้อยมาก นานๆจะมีมาส่งซักองค์ ส่วนมากจะพบเห็นไม่มาก
***ประวัติหลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช' หรือ 'พระครูวิบูลสิกขกิจ' อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 4 เป็นพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมรุ่นเก่าอีกรูปหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคตะวันออก
ชาติภูมิ เกิดเมื่อวันที่ 5 พ.ค.2408 ณ บ้านบางหัวเสือ ต.บางหัวเสือ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ครอบครัวประกอบอาชีพทำสวนจากและค้าขาย ในวัยเด็กได้เรียนหนังสือเป็นศิษย์วัดบางหัวเสือ คอยปรนนิบัติรับใช้หลวงพ่อบัว อดีตเจ้าอาวาส ส่วนโยมบิดาได้ไปค้าขายอยู่แถบวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) แถวฝั่งธนบุรีใกล้สะพานเจริญพาศน์ โดยมีความคุ้นเคยกับพระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม) อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับ รูปที่ 13
กระทั่งบุตรชายมีอายุย่างเข้า 23 ปี จึงพามาอุปสมบทที่วัดราชสิทธาราม เมื่อวันที่ 7 ก.ค.2431 มีพระสังวรานุวงศ์เถร (เอี่ยม) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระมงคลเทพมุนี (เอี่ยม) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ 14 เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระอริยศีลาจาร (เอี่ยม) อดีตเจ้าอาวาสวัดสังข์กระจาย ฝั่งธนบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายาว่า ธัมมเตโช เมื่อบวชแล้วศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่วัดพลับได้ 1 พรรษา จากนั้นจึงขออนุญาตเจ้าอาวาสย้ายวัดมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางหัวเสือ บ้านเกิด ตั้งแต่นั้นมา เมื่อท่านมาอยู่วัดบางหัวเสือได้พบพระหนุ่มลูกบ้านเดียวกัน บวชปี พ.ศ.2431 พร้อมกัน แต่มีอายุอ่อนกว่า 2 ปี คือ พระอาจารย์เที่ยง ผู้เชี่ยวชาญวิทยาคม ถ่ายทอดจากต้นตำรับของวัดบางหัวเสือไว้ ได้สร้างพระปิดตาเนื้อตะกั่วพิมพ์นั่งยองหลังพระพุทธ สามารถเสกให้ลุกนั่งได้อย่างอัศจรรย์ เมื่อพระอาจารย์ทั้งสองมาอยู่ด้วยกัน ต่างช่วยกันพัฒนาวัดในด้านต่างๆ ให้เจริญรุ่งเรืองจนถึงที่สุด ด้านพุทธเวท วิทยาคมก็นำมาสาธยายค้นคว้าต่อกันจนมีความสามารถมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน ตลอดจนการออกธุดงค์ไปต่างจังหวัดท่านก็ไปคู่กันเสมอ ญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดก็ให้ความเคารพนับถือท่านเท่าเทียมกัน พ.ศ.2454 หลวงพ่ออยู่ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดบางหัวเสือ ซึ่งในครั้งแรกท่านไม่ยอมรับ ท่านว่าตำแหน่งนี้ควรให้หลวงพ่อเที่ยง ด้วยอยู่วัดบางหัวเสือมาก่อน แต่หลวงพ่อเที่ยงก็ไม่ยอมรับเช่นกัน บอกว่าหลวงพ่ออยู่อาวุโสกว่าด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ สมควรได้รับตำแหน่งนี้ต่อมา พ.ศ.2454 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.2461 ได้เป็นเจ้าคณะตำบลบางหัวเสือ
ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2482 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ในราชทินนาม พระครูวิบูลสิกขกิจ วัตถุมงคลที่หลวงพ่ออยู่จัดสร้าง เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ นางกวัก ลูกอม เหรียญ รูปหล่อ พระปิดตา ฯลฯ แต่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง คือ พระปิดตาของหลวงพ่ออยู่ มีหลายพิมพ์ ทั้งเนื้อเมฆพัด เนื้อทองเหลือง และเนื้อผงใบลาน พระปิดตาบางพิมพ์ของท่านไปคล้ายกับของวัดอื่น เช่น หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม, หลวงปู่ทอง วัดราชโยธา กทม., หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ ชลบุรี ฯลฯ หลวงพ่ออยู่ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับการนิมนต์ในพิธีพุทธาภิเษกงานสำคัญ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีอายุยืนยาวนานเกือบร้อยปี ช่วงบั้นปลายชีวิต ในคืนวันที่ 9 ม.ค.2505 ท่านได้ให้ศิษย์ไปนิมนต์พระมาสวดมนต์ต่ออายุ แต่เมื่อพระมาแล้วท่านก็ให้กลับไป กระทั่งรุ่งเช้าวันที่ 10 ม.ค.2505 ท่านสวดมนต์ไหว้พระเสร็จก็ล้มตัวลงนอน ละสังขารไปด้วยอาการสงบ สิริอายุ 97 ปี พรรษา 74