พระครูมูลท่านมีฐานะเป็นเพียงพระลูกวัดธรรมดาของวัดสุทัศน์เท่านั้น เป็นพระสวดพิธีธรรมในพิธีปลุกเสกพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ของวัดสุทัศน์ที่วัดสุทัศน์จัดขึ้นไม่ค่อยปรากฎชื่อเสียงทางวิทยาคมเหมือนพระเกจิอาจารย์ท่านอื่น ๆ ในยุคสมัย 60-70 ปีก่อน แต่ความรู้เรื่องวิทยาคมลูกศิษย์บอกว่าท่านก็มีพอตัวอยู่ เพราะว่าพระสงฆ์สมัยก่อนเมื่อบวชแล้วหรือยิ่งบวชนานหลาย ๆ พรรษา ก็มักจะมีการเรียนวิชาอาคมเพื่อประดับตัวเอาไว้เสมอ
พระครูมูลท่านรู้กิตติศัพท์ของพระสมเด็จวัดระฆังมานานแล้ว ท่านจึงพยายามเก็บรวบรวมพระสมเด็จวัดระฆังที่ชำรุดแตกหักเป็นท่อน ๆ เอาไว้ คนเมื่อรู้ว่าพระครูมูลเก็บรวบรวมชิ้นส่วนชำรุดของพระสมเด็จวัดระฆังเพื่อจะสร้างพระขึ้นใหม่ จึงนำเอาชิ้นส่วนของพระสมเด็จวัดระฆังมาถวายท่านกันเรื่อย ๆ เนื่องจากสมัยนั้นคนยังมีคติไม่นิยมเอาพระที่แตกหักชำรุดไว้ในบ้าน จึงทำให้มีคนนำเอาพระสมเด็จวัดระฆังที่ชำรุดแตกหักมามอบให้พระครูมูลมากขึ้นทุก ที ว่ากันว่าพระครูมูลท่านเก็บสะสมชิ้นส่วนแตกหักของพระสมเด็จวัดระฆังได้เป็นจำนวนมากเป็นปี๊บ ๆ กันเลย
เมื่อเก็บรวบรวมชิ้นส่วนแตกหักของพระสมเด็จวัดระฆังได้เป็นจำนวนมากเพียงพอต่อความต้องการแล้ว พระครูมูลจึงเอาชิ้นส่วนพระสมเด็จวัดระฆังเหล่านั้นมาป่นให้ละเอียดและผสมกับปูนขาวเป็นเนื้อหลัก แล้วสร้างเป็นพระสมเด็จขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2484 เป็นพิมพ์เกศบัวตูม เมื่อกดพิมพ์พระได้จำนวนเท่าที่ต้องการแล้ว พระครูมูลท่านได้นำเอาพระสมเด็จที่ท่านสร้างนี้เข้าร่วมพิธีปลุกเสกพร้อมกับพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ที่ทางวัดสุทัศน์จัดขึ้น
ความจริงแล้วพระสมเด็จที่พระครูมูลสร้างขึ้นมาในครั้งนั้นถึงจะไม่นำฝากเข้าร่วมพิธีปลุกเสก ก็มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวอยู่แล้ว เนื่องมาจากมีผงเก่าผสมอยู่เป็นจำนวนมากนั่นเอง แต่ด้วยความที่อยากให้พระสมเด็จมีพุทธคุณมากยิ่ง ๆ ขึ้น พระครูมูลท่านจึงเอาพระเข้าร่วมพิธีปลุกเสกด้วย ระหว่างนั้นเมื่อมีใครมาขอพระสมเด็จจากพระครูมูลท่านก็จะหยิบแจกให้ฟรี ๆ ไปเรื่อย ๆ ส่วนที่เหลือเมื่อมีพิธีปลุกเสกที่วัดสุทัศน์ครั้งใด ท่านก็จะนำเอาพระสมเด็จฝากเข้าร่วมในพิธีอีก ใครมาขอก็แจกให้ ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพระสมเด็จที่ท่านสร้างครั้งแรกหมดไป
จนกระทั่งมาในปี พ.ศ. 2495 พระครูมูลท่านได้เอาชิ้นส่วนของพระสมเด็จวัดระฆังที่เหลือจากการสร้างพระสมเด็จครั้งแรก มาผสมกับชิ้นส่วนของพระสมเด็จวัดระฆัง และพระสมเด็จบางขุนพรหมที่ท่านหามาเพิ่มเติมทีหลังสร้างขึ้นใหม่อีก ครั้งนี้ท่านสร้างเป็นพิมพ์พระธาน แบบมีหน้าตา ซึ่งจะปรากฏรายละเอียดสวยงามกว่าพระสมเด็จพิมพ์เกศบัวตูมที่ท่านสร้างขึ้นครั้งแรก นอกจากนี้ยังมีการสร้างเป็นพิมพ์นางพญา พิมพ์สามเหลี่ยม และ พิมพ์พระคะแนน ด้วย ซึ่งการสร้างพระสมเด็จของพระครูมูลครั้งหลังนี้ท่านก็ทำเหมือนครั้งแรก คือฝากเข้าพิธีปลุกเสกที่วัดสุทัศน์จัดขึ้นทุกครั้ง แล้วก็แจกไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดไปในที่สุด
พระสมเด็จของพระครูมูลมีการนิยมมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว สมัยนั้นคนที่ได้รับแจกพระสมเด็จจากท่านต่างมีประสบการณ์ทางด้านนิรันตรายกันมาก จึงนิยมใช้แทนพระสมเด็จวัดระฆังนับแต่นั้นมา พูดถึงพุทธคุณทางด้านเมตตามหานิยมของพระสมเด็จพระครูมูลก็มีผู้มีประสบการณ์กันมากไม่รู้เท่าไหร่ ๆ กันแล้ว เพราะว่าไปแล้วการใช้พระสมเด็จพระครูมูลก็เหมือนใช้พระสมเด็จวัดระฆังดี ๆ นั่นเอง นอกจากนี้พระสมเด็จของพระครูมูล โดยเฉพาะพิมพ์ทรงเจดีย์ที่เป็นพระยุคแรกของท่าน จะมีเนื้อหามวลสารเข้มจัดคล้ายกับเนื้อพระสมเด็จวัดระฆังมาก มีการนำพระของท่านมาแกะเปลี่ยนพิมพ์ขายเป็นพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงเจดีย์ไปแล้วมากมาย (หมายเหตุฯ พระที่นำมาแกะเปลี่ยนพิมพ์ จะเป็นพระที่ไม่มีผงตะไบกริ่งโรยไว้) แม้แต่ชิ้นส่วนแตกหักของพระสมเด็จของท่านก็นำไปแกะเป็นพระคะแนนแล้วหลอกว่าเป็นชิ้นส่วนสมเด็จวัดระฆังขายไปองค์ละหลายหมื่นบาท (มูลค่าเงินในสมัยนั้น) เป็นเหตุที่ทำให้ท่านต้องทำพิมพ์พระสมเด็จขึ้นใหม่เป็นพิมพ์แบบมีหน้าตา ในปี 2495 เพื่อแก้ปัญหาคนนำพระของท่านไปหลอกขายแก่ผู้ไม่รู้เสียมากมาย
สรุปว่าพระสมเด็จของพระครูมูล เป็นพระที่น่าใช้มาก เพราะเป็นพระตระกูลสมเด็จยุคปลายที่มีส่วนผสมของมวลสารของพระสมเด็จวัดระฆังไว้มากที่สุด ทำให้น่าเก็บไว้ศึกษาและบูชาอย่างยิ่ง
Read more