พระท่ากระดานน้อย กรุศาลเจ้า เนื้อตะกั่วสนิมแดง จ.ราชบุรี
👉 ในชุดเบญจภาคีพระเนื้อชินยอดนิยม อันประกอบด้วย พระร่วงยืนประทานพรหลังรางปืน จ.สุโขทัย พระมเหศวร จ.สุพรรณบุรี พระหูยาน จ.ลพบุรี พระพุทธชินราชใบเสมา จ.พิษณุโลก และ พระท่ากระดาน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ขุนศึกแห่งลุ่มแม่น้ำแม่กลอง” อันโด่งดังที่สุดของเมืองกาญจนบุรีนั้น กล่าวสำหรับ พระท่ากระดาน ของ จ.กาญจนบุรี มีการขุดพบทั้งกรุเก่าและกรุใหม่ สร้างด้วยเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง องค์พระมีขนาดปานกลาง
👉ซึ่งนอกจาก พระท่ากระดาน ที่พบเห็นทั่วไปแล้วยังมีการขุดพบ พระท่ากระดานน้อย เนื้อสนิมแดง อีกพิมพ์หนึ่ง ซึ่งมีขนาดองค์พระเล็กกะทัดรัด ประมาณเท่ากับปลายนิ้วก้อย เรียกกันว่า พระท่ากระดานน้อย ขุดพบจาก กรุวัดท่าเสา ในบริเวณ ต.ลาดหญ้า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี รวมทั้งที่กรุวัดเขาชนไก่ อีกด้วย
👉เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ มีการขุดฐานพระเจดีย์องค์หนึ่งที่วัดท่าเสา พบ พระท่ากระดาน จำนวนหนึ่ง ไม่มากนัก และยังพบพระพิมพ์อื่นๆ อีกหลายพิมพ์ ที่มีมากสุดคือ พระท่ากระดานน้อย นักนิยมสะสมพระเครื่องจึงเสาะแสวงหาพระเครื่องเล็กๆ พิมพ์นี้กันมาก เพราะมีราคาเช่าหาในท้องตลาดถูกกว่า พระท่าพระดาน พิมพ์ใหญ่ ซึ่งหายากและมีราคาแพงมาก
👉ขณะเดียวกัน บางท่านหา พระท่ากระดานน้อย กรุวัดท่าเสา ไม่ได้ แต่มีใจรักในพระกรุประเภทเนื้อชินสนิมแดง ก็ยังสามารถหา พระท่ากระดานน้อย อีกกรุหนึ่งมาใช้ทดแทนกันได้ คือ พระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า ของ จ.ราชบุรี พระท่ากระดานน้อย กรุเมืองราชบุรีนี้ มีขนาด เนื้อหา และพิมพ์ทรง เกือบจะเหมือนกับของกรุเมืองกาญจนบุรี ทุกประการ ซึ่งนักนิยมสะสมพระเครื่องบางท่านที่ไม่มีความชำนาญมากพอ จะไม่สามารถแยกออกได้เลยว่า พระท่าพระดานน้อย ของทั้ง ๒ เมืองนี้แตกต่างกันตรงไหนอย่างไร
👉พระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า จ.ราชบุรี เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ขุดพบเมื่อปี ๒๕๐๔ ที่วัดศาลเจ้า ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในเมืองราชบุรี สร้างมาแต่สมัยใดไม่ปรากฏ แต่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เมื่อสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา โดย หลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ซึ่งต่อมาก็คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
👉เมื่อปี ๒๔๖๕ ได้เกิดอสุนีบาตฟ้าฟาดองค์พระเจดีย์ ทำให้พระเครื่องแตกกรุออกมาจำนวนหนึ่ง แต่ก็ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดย เถ้าแก่ปู้ เจ้าของโรงสีใกล้วัดศาลเจ้า พร้อมทั้งได้สร้างพระเครื่องบรรจุไว้อีกหลายแบบพิมพ์
👉ต่อมาในปี ๒๕๐๔ พระเจดีย์ได้ชำรุดลงอีก ได้มีผู้พบพระเครื่องอยู่ภายในองค์เจดีย์เป็นจำนวนมาก โดยมีพระเครื่องหลายชนิด มากด้วยพิมพ์ทรง มีทั้งเนื้อชิน เนื้อผง และเนื้อว่าน
👉พระที่พบในครั้งที่มีจำนวนมากที่สุด คือ พระพิมพ์ขนาดเล็ก เนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ซึ่งมีทั้งสนิมแดงจัด และสนิมแดงแซมไข เนื่องจากเนื้อตะกั่วแก่ชินนั่นเอง สันนิษฐานว่า พระพิมพ์ดังกล่าวน่าจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ในคราวที่ได้บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ในยุคแรก
👉ส่วนพระพิมพ์อื่นๆ เช่น พระผงพิมพ์กลีบบัว พระพิมพ์เนื้อว่าน ฯลฯ น่าจะสร้างในคราวที่เถ้าแก่ปู้ บูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ในคราวหลัง
👉พระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า พุทธลักษณะ เป็นพระปางมารวิชัย ประทับนั่งโดยไม่มีฐานรองรับ รายละเอียดบนพระพักตร์ปรากฏไม่ชัดเจนเลย ไม่มีทั้งพระเนตร พระขนง พระโอษฐ์ และพระนาสิก มีแต่โครงหน้าพระพักตร์เรียบๆ เท่านั้น
👉นอกจากนี้ ขอบองค์พระยังปรากฏปีกด้านข้างทุกองค์ ทั้งประเภทปีกกว้าง และปีกชิด เป็นพระเนื้อชินสนิมแดง คล้ายกับพระกรุท่าเสา จ.กาญจนบุรี แต่ลักษณะสนิมแดงของพระกรุวัดท่าเสา จะดูแดงเข้มจัด และไขมันสดกว่าของกรุวัดศาลเจ้า เพราะอายุของพระกรุวัดท่าเสามีความเก่ามากกว่ากัน
👉นอกจากนี้พระกรุวัดท่าเสา องค์พระจะมีหน้าพระพักตร์ และพระกรรณทั้งสองข้างปรากฏให้เห็นชัดเจนกว่าของกรุศาลเจ้า
👉ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้นำพระกรุวัดศาลเจ้า ซึ่งไม่มีหน้าพระพักตร์ มาปั๊มขึ้นหน้าพระพักตร์ใหม่ ให้เหมือนกับพระกรุวัดท่าเสา แล้วขายออกในราคาที่สูงกว่า
👉จุดแตกต่างในการพิจารณา คือ พระกรุวัดท่าเสา ตรงบริเวณพระกรซ้ายขององค์พระมีเส้นขีดนูนยาวเลยไปจรดขอบพระ ต่างกับพระกรุวัดศาลเจ้า ซึ่งไม่มีเส้นขีดนูนเป็นตำหนิจุดตายปรากฏให้เห็น
👉 พระท่ากระดานน้อย กรุวัดศาลเจ้า มีขนาดองค์พระกว้างประมาณ ๑.๓๐ ซม. สูงประมาณ ๒ ซม. พุทธคุณยอดเยี่ยมทางแคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี สนนราคาอยู่ที่หลักพันต้นๆ ถึงหลักพันกลางๆ ถ้ามีสภาพสวยสมบูรณ์ ปีกกว้าง สนิมแดงจัด ราคาประมาณหมื่นกว่าบาทถึงสองหมื่นขึ้นไป
เหตุที่ราคาไม่สูงมากก็เพราะพระเนื้อสนิมแดงพิมพ์นี้ ส่วนมากองค์พระจะหย่อนความงามเท่าที่ควรนั่นเอง
"ชาติ วิศิษฏ์สรอรรถ" (คม ชัด ลึก)