พระกรุวัดท้ายตลาด พิมพ์เล็บมือ มารวิชัย กรุเก่า
สัปดาห์พระเครื่อง / ราม วัชรประดิษฐ์
วัดท้ายตลาด หรือ วัดโมลีโลกยาราม เป็นวัดเก่าแก่โบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองสมัยกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนา เช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และวัดพระศรีรัตนศาสดารามในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ และยังมีความสำคัญต่อเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย สมัยรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ พระมหาศรี วัดราชสิทธิ์ เป็นพระเทพโมลี แล้วให้มาครองวัดนี้ ต่อมาจึงได้เลื่อนเป็น พระพุทธโฆษาจารย์ รัชกาลที่ 2 ทรงเปลี่ยนนามพระอารามเป็น "วัดพุทไธศวรรยาวาส" รัชกาลที่ 3 ทรงให้ปฏิสังขรณ์พระอารามโดยตลอด พร้อมกับพระอารามอื่นๆ อีก และทรงเปลี่ยนนามเป็น "วัดโมลีโลกยาราม" มาจนทุกวันนี้ ฯลฯ
วัดท้ายตลาด ยังเคยเป็นสถานศึกษาของพระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 อนึ่ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) สมัยเป็นพระพุทธโฆษาจารย์ ก็เป็นพระกรรมวาจาจารย์ของรัชกาลที่ 3 และถวายพระอักษร รัชกาลที่ 4 เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) มรณภาพลง รัชกาลที่ 3 ทรง ให้หล่อรูปประดิษฐานไว้ในหอที่ทรงสร้างไว้ในวัดเรียกกันว่า "หอสมเด็จ" (ทรง ให้หล่อพร้อมกับพระรูปสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) ที่วัดราชสิทธาราม)
พระวัดท้ายตลาด ในช่วงแรกๆ ที่กรุแตกนั้น ยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายนัก จนเมื่อคราวเกิดสงครามอินโดจีน ได้มีการนำพระส่งไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อแจกจ่ายไปยังเหล่าทัพต่างๆ เป็นการสร้างขวัญกำลังใจ ด้วยพุทธคุณขององค์พระเป็นที่ปรากฏประจักษ์แก่สายตา ทำให้ได้รับความนิยมและเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น จนถึงปัจจุบันกลายเป็นพระพิมพ์เนื้อผงยอดนิยมในวงการนักนิยมสะสมพระเครื่องพระบูชาไทยไปแล้ว
ผู้สร้าง
ท่านอาจารย์ตรียัมปวายได้บันทึกไว้ว่า สร้างโดยพระวิเชียรมุนี อดีตเจ้าอาวาสองค์ก่อน ท่านเจ้าคุณสนิท พร้อมกับหลวงพ่อแย้มและหลวงพ่อกลิ่น พระอาจารย์สายกัมมัฏฐานผู้ทรงกิตติคุณของพระอารามนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2431 บ้างก็ว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน) สร้างไว้ก็มี
การค้นพบ
พระวัดท้ายตลาด ได้ถูกคนร้ายลักลอบเจาะมาช้านานแล้ว ต่อมาในราวปี พ.ศ. 2485-2485 ในช่วงสงครามอินโดจีน ทางราชการได้มีหนังสือขอพระเครื่องมา พระประสิทธิสีลคุณ เจ้าอาวาสในสมัยนั้น จึงได้ดำริให้ขุดกรุพระเจดีย์รายในวัด นับเป็นการแตกกรุครั้งแรก ได้พระเครื่องออกมาจำนวนมาก และได้มอบให้ทางราชการไปส่วนหนึ่ง ซึ่งสร้างปาฏิหาริย์เป็นที่ปรากฏจนเป็นที่กล่าวขาน นอกจากนี้ยังได้พบพระแบบเดียวกันที่ วัดนางชี วัดหงษ์ วัดตะล่อม ฯลฯ แสดงว่าคงมีการบรรจุไว้ตามวัดต่างๆ หลายวัดด้วย
เนื้อหามวลสาร
เป็นพระเนื้อผง ทำด้วยว่านและเกสรดอกไม้ร้อยแปด ผสมกับปูนขาวและผงใบลาน สำหรับพระที่พบที่กรุวัดท้ายตลาดจะมีเนื้อค่อนข้างเขียวอมดำหรือเทาแก่จนใกล้จะเป็นดำ
พุทธลักษณะ
พระพิมพ์ปางต่างๆ ที่พบ ล้วนเป็นคติการสร้างพระพุทธรูปซึ่งเกิดใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทั้งสิ้น มีพุทธลักษณะพิมพ์ทรงงดงามได้สัดส่วน ละเอียด ประณีต และอ่อนช้อย คาดว่าน่าจะเป็นฝีมือของช่างหลวงในสมัยนั้นเป็นผู้แกะพิมพ์ ด้วยพระที่พบมีหลายแบบหลายพิมพ์ จึงตั้งชื่อพิมพ์ตามพุทธลักษณะเด่นขององค์พระ อาทิ พระพิมพ์ถวายเนตร พระพิมพ์อุ้มบาตร พระพิมพ์ปางห้ามญาติ ห้ามสมุทร ปางป่าเลไลยก์ พิมพ์สมาธิแหวกม่าน พิมพ์โมคคัลลาน์-สารีบุตร พิมพ์สมาธิข้างกนก พิมพ์พุทธกวัก พิมพ์สมาธิบัวสองชั้น พิมพ์นาคปรกใหญ่ พิมพ์หยดแป้ง และ พิมพ์ปางไสยาสน์ เป็นต้น
ด้านพุทธคุณ
มีพุทธคุณเป็นเลิศด้านเมตตามหานิยม โชคลาภ รวมไปถึงแคล้วคลาดคงกระพันชาตรี
แนวทางในการพิจารณา
การที่พระบรรจุในกรุพระเจดีย์ตามวัดต่างๆ สภาพแวดล้อมและสภาวะภายในกรุแต่ละกรุจะแตกต่างกัน ทำให้องค์พระมีลักษณะพื้นผิวที่ต่างกันด้วย ดังนั้นนอกเหนือจากการพิจารณาความเก่า เนื้อหา และพิมพ์ทรงแล้ว ต้องดูที่คราบกรุเป็นสำคัญ เพราะค่านิยมแต่ละกรุจะลดหลั่นแตกต่างกันไปครับผม
รับประกันพระแท้ สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 083-2699000 ID Line : Ting_sathu Email : [email protected] หรือ [email protected]
ภาณุภัณฑ์ พระเครื่อง เชิญที่นี่ >>> https://www.siam-pra.com/shop/Ting_sathu
ท่านต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการยืนยันตัวตนแล้วเท่านั้น