"หลวงปู่วาส สีลเตโช" เกจิดังขมังเวทย์เมืองนนท์ สายพุทธาคมวัดสะพานสูง
ทีมข่าวกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์คัมภีร์นิวส์ ขอพาย้อนตำนานเกจิอาจารย์ดังขมังเวทย์ "หลวงปู่วาส สีลเตโช" หรือ"หลวงตาวาส" อดีตพระเกจิชื่อดังแห่งวัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นศิษย์เอกสืบสายธรรมจากหลวงปู่เอี่ยม หลวงปู่กลิ่น หลวงพ่อทองสุข และหลวงตาใย แห่งวัดสะพานสูง รวมทั้ง อาจารย์แปลก ร้อยบาง ฆราวาสจอมขมังเวท
ท่านเกิดในสกุล "เกิดน้อย"เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2459 ที่บ้านในเขต อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายพัดและนางเลื่อน เมื่ออายุครบ 21 ปีได้เข้าพิธีบรรพชา-อุปสมบท มี พระสุเมธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปรมัยยิกาวาส (วัดปากอ่าว) อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน จ.นนทบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานามว่า "สีลเตโช"
สำหรับประวัติหลวงปู่วาสที่เกี่ยวเนื่องกับหลวงปู่เอี่ยม ปฐมนาม วัดสะพานสูงที่ชัดเจนที่สุด คือ หลวงปู่วาสสืบทอดพุทธาคมจากอาจารย์แปลก ร้อยบาง แห่งวัดสะพานสูง และยังเป็นทายาทโดยสายเลือดของหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง โดยเป็นเหลนของทวดอิ่ม ผู้ซึ่งเป็นน้องสาวร่วมอุทรของหลวงปู่เอี่ยม นอกจากนี้ ยังมีศักดิ์เป็นหลานของหลวงพ่อสุ่น วัดศาลากุน ที่เป็นทั้งน้าและอา เกี่ยวโยงเป็นญาติกัน
ทั้งนี้ เมื่อปี พ.ศ.2480 เมื่อครั้งที่ท่านบวชนั้น ทั้งหลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง และหลวงพ่อสุ่น ได้เดินทางไปร่วมงานฉลองพระใหม่ที่บ้าน และหลวงพ่อสุ่นได้มอบหนุมานเนื้องาและผ้ายันต์ให้เป็นของที่ระลึก พร้อมกับบอกคาถาปลุกเสกหนุมานให้ด้วย
ส่วนพระอาจารย์ผัน แห่งวัดอินทาราม ศิษย์เอกของหลวงปู่กลิ่น และเป็นผู้ที่สร้างพระปิดตา-พระลำพูน ถวายหลวงปู่กลิ่นแจกในงานแซยิด ครบ 6 รอบ ท่านมีความเกี่ยวข้องเป็นญาติผู้พี่ของหลวงปู่วาสด้วย ส่วน"หลวงพ่อจำปา นารโท" พระเกจิอาจารย์ทางด้านสักยันต์ เจ้าของตำนาน"หนังไม่เหนียว ห้ามเที่ยววัดสาลีโข "มีศักดิ์เป็นหลวงน้าของหลวงปู่วาส
กล่าวกันว่า หลวงปู่วาสป็นผู้สืบทอดวิชาตะกรุดโสฬสมหามงคล ตะกรุดมหาอุด โดยท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์แปลก ร้อยบาง ฆราวาสทายาทพุทธาคมยันต์มหาอุดตำรับหลวงปู่เอี่ยม
อาจารย์แปลก ร้อยบาง เป็นศิษย์ฆราวาส ร่ำเรียนวิชาการทำตะกรุดโสฬสมหามงคล มาจากหลวงปู่กลิ่น ในฐานะศิษย์สายตรงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นฆราวาส ทำให้มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเมืองนนทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง
จวบจนหลวงปู่กลิ่นมรณภาพ อาจารย์แปลกก็ยังคงจารตะกรุดจนถึงสมัยของหลวงพ่อทองสุข และในช่วงนั้นเอง อาจารย์แปลกได้ถ่ายทอดวิชาการทำตะกรุดมหาอุดให้หลวงปู่วาสืส่วนหลวงตาใย ศิษย์หลวงพ่อทองสุข ได้ครอบครูยันต์โสฬสมงคลให้กับหลวงปู่วาสอีกด้วย
หลวงปู่วาสร่ำเรียนวิชานี้อย่างครบสูตรวิชาโสฬสมหามงคลและยันต์มหาอุดจนเกิดความชำนาญ สามารถสานต่องานลงจารเขียนยันต์ด้วยจิตที่มีสมาธิแน่วแน่บังเกิดเป็นพุทธคุณ เห็นทันตาในยุคนั้น
หลวงพ่อวาสท่านครองตนอย่างสมถะ ไม่สะสมทรัพย์สินเงินทอง มักน้อย ถือสันโดษ นอกจากความเป็นพระเกจิชื่อดังแล้ว ในอีกด้านหนึ่งท่านยังเป็นพระนักพัฒนาที่มีแต่ให้ ไม่เคยหวังผลจากความดีความชอบ หรือการตอบแทนใดๆทั้งสิ้น โดยท่านได้พัฒนาวัดสะพานสูงจนเตริญรุ่งเรือง อีกทั้งส่งเสริมการเรียนการสอนแก่นักเรียนและเยาวชนในละแวกวัดด้วยการมอบทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
วาระสุดท้ายท่านละสังขารเมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2559 ที่โรงพยาบาลกรุงไทย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สิริอายุมากถึง 101 ปี
สำหรับพระเครื่องของท่านรับประกันได้ในความเข้มขลัง ทั้งพระปิดตาหรือว่าตะกรุด กล่าวขานกันว่าสุดๆเรื่อง"เหนียว" แคล้วคลาดปลอดภัยตามตำรับสายวัดสะพานสูงแท้จริง!