พระเชตุพนพิมพ์ใหญ่เนื้อดิน จ.สุโขทัย ลงรักเก่าๆ สูงประมาณ 2 นิ้ว
วัดพระเชตุพน
(แผลงมาจากเชตวัน) มีคูล้อมรอบ นอกกำแพงเมืองมีคูก่ออิฐ
มีมณฑปเป็นหลักของวัด กว้าง 8 เมตร ยาว 14 เมตร ยังเหลือแต่ผนังด้านหลัง
ที่ผนังนั้นมีพระพุทธรูปปางลีลาปูนปั้นขนาดใหญ่อยู่ด้านหน้า
และพระพุทธรูปยืนอยู่ด้านหลัง ด้านข้าง 2
ข้างพังทลายไม่เห็นร่องรอยมีประตูและกำแพงหินชนวนแท่งสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่โดยรอบหลังมณฑปใหญ่ออกไปมีมณฑปเล็ก
ซึ่งตามซุ้มยังมีร่องรอยของภาพเขียนปรากฏอยู่ ด้านหน้ามณฑปใหญ่ มีวิหาร 6
ห้องนับเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่ง สร้างมาก่อน พ.ศ. 1955
เพราะในจารึกวัดสรศักดิ์ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 1955 มีกล่าวถึงชื่อวัดนี้แล้ว
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ก็มีการสถาปนาวัดชื่อพระเชตุพนนี้ขึ้นวัดหนึ่ง
แต่ไม่เป็นที่รู้จักและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์โบราณคดีมากนัก
ครั้งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสามเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ได้ทรงบูรณะสังขรณ์วัดโพธิ์หรือวัดโพธารามที่ท่าเตียนขึ้น
ให้เป็นพระอารามหลวงขนาดใหญ่ประจำรัชกาล
พระราชทานนามว่าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตามแบบอย่างวัดพระเชตุพน
ในสมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงสุโขทัย และดังได้กล่าวแล้ว
คำว่าพระเชตุพนก็คือวัดพระเชตวันมหาวิหารเมื่อครั้งพุทธกาลนั่นเอง
สำหรับพระพิมพ์หรือพระเครื่องที่รู้จักกันดีในนาม
"พระเชตุพน" นั้นแตกกรุครั้งแรกในวัดพระเชตุพน จังหวัดสุโขทัย
บางท่านก็เรียกชื่อพระพิมพ์นี้ว่า "พระร่วงหน้าโหนกสุโขทัย" มี 2 พิมพ์ คือ
พระเชตุพนพิมพ์บัวไข่ปลา หรือ พิมพ์เล็กฐานชั้นเดียว
และพระเชตุพนพิมพ์ใหญ่ บัว 2 ชั้น คือ ฐานสูงหรือฐาน 2 ชั้น มีทั้งเนื้อชิน
เนื้อดิน และเนื้อว่าน
พระเชตุพนไม่ได้ขึ้นที่วัดพระเชตุพนสุโขทัยเท่านั้น
ที่วัดอื่น ๆ ก็มี ทั้งในจังหวัดสุโขทัย และกำแพงเพชร
เป็นปฏิมากรรมจิ๋วที่แตกกรุแต่ละแห่งเป็นจำนวนมาก
ลักษณะพระพุทธปฏิมาเป็นปางสมาธิ มีทั้งแบบตัดปีกไม่ตัดปีก และแบบลอยองค์
ในการแยกแยะพิมพ์พระเชตุพนว่าองค์ไหนเป็นของสุโขทัยหรือกำแพงเพชรดูจะไม่ยากนัก
ถ้าเป็นพระเนื้อดิน เพราะเนื้อดินของสุโขทัยกับกำแพงเพชร
มีลักษณะแตกต่างกัน โดยทั่วไปกรุสุโขทัยเนื้อแกร่งอย่างไหกระเทียมก็มี
ที่ดูลักษณะนุ่มก็มักมีกรวดทรายมาก
แต่ของกำแพงเพชรก็เหมือนกับพระนางกำแพงเป็นต้น ของทุ่งเศรษฐีทั่วไป คือ
ดินผสมผงเกษร ดูนุ่มนวลและมักมีว่านดอกมะขามมองเห็นประปราย
นี่ว่าเฉพาะพระเนื้อดิน
แต่ที่เป็นเนื้อชินสำหรับผู้สะสมมือใหม่อาจจะสังเกตยากสักหน่อย
เพราะทั้งสองจังหวัดนี้เป็นพระที่สร้างในยุคเดียวกัน
คงจะถือเอาลักษณะเนื้อชินเป็นข้อแตกต่างอย่างเนื้อชินของอยุธยาหรือสุพรรณบุรีเทียบเคียงมิได้
อย่างไรก็ดีมีผู้รู้ในวงการให้ข้อสังเกตเป็นตำหนิพิมพ์ทรงว่า
พระเชตุพนของกำแพงเพชรจะมีรอยพิมพ์แตกอยู่ใต้ท่อนแขนใกล้ข้อมือ
มองเห็นเป็นหมอนหรือเข็มสั้น ๆ รองอยู่ใต้ท่อนแขนขวา (ซ้ายมือของผู้ดู)
ในองค์ที่สภาพสมบูรณ์ชัดเจนจะมองเห็นชัด โดยเฉพาะพระเนื้อชิน
ยิ่งเป็นพระเนื้อว่านด้วยแล้ว
คงไม่สามารถแยกได้ว่าองค์ไหนเป็นของสุโขทัยหรือกำแพงเพชรในทัศนะของผู้เขียนเองที่เคยสังเกตลักษณะว่านของสุโขทัยมักจะออกไปทางขาวหม่น
แต่ของกำแพงเพชรจะค่อนไปทางเหลืองหรือแดงคล้ำ
อันนี้เป็นข้อสังเกตพระกรุเนื้อว่านที่อยู่ในครองครองประมาณ 10 องค์
อย่างไรก็ดี พระกรุเนื้อว่านเท่าที่พบของสุโขทัยมีน้อยมาก
แต่ของกำแพงเพชรจะมีมากกว่า
พระเชตุพนฐานสูงมักจะตัดปีกเป็นหน้าจั่วแบบนางพญา
แต่ไม่ถึงกับยอดปลายแหลม เมื่อมองดูสัดส่วนฐานจะใหญ่
องค์พระไม่สง่างามเหมือนพิมพ์เล็กฐานชั้นเดียว พิมพ์ใหญ่ฐานสูงหรือฐาน 2
ชั้น เท่าที่พบจะหาสมบูรณ์สวยงามได้ยาก
ยิ่งที่เป็นเนื้อดินด้วยแล้วจะหาสวยยาก
เพราะชำรุดและจำนวนพระมีน้อยกว่าพิมพ์เล็กฐานชั้นเดียวด้วย
ในแง่ของความงาม
พิมพ์เล็กฐานชั้นเดียวจะมีทรวดทรงสวยงาม องค์ที่สวยสมบูรณ์น่าทำตลับทองใช้
มีขนาดเหมาะกับผู้หญิงและเด็กมาก พิมพ์ทรงเล็กน่ารักน่าเอ็นดู
น่าสะสมเป็นอย่างยิ่ง
ในแง่พุทธคุณ
ผู้เขียนไม่เคยเชื่อว่าพระกรุพระเก่าจะมีพุทธคุณวิเศษแตกต่างกัน
ทุกองค์เสมอเหมือนกันหมด เพราะเจตนาผู้สร้างสืบอายุพรพุทธศาสนาเหมือนกันหมด
สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นพระปฏิมาแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เป็นพุทธานุสติสำหรับผู้เคารพบูชา และประพฤติดีปฏิบัติชอบ
ผู้ใดเคารพเลื่อมใสและประพฤติดีปฏิบัติชอบตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
ย่อมได้รับความคุ้มครองและเป็นสิริมงคลแก่ผู้นั้นในทุก ๆ ทาง
ตามพระพุทธพจน์ที่ว่า ธมฺโม หเวรกฺขติ ธมฺมจารี
ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม และ ธมฺมจารี สุขํ เสติ
ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข ฉะนี้แล
รับประกันพระแท้ สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 083-2699000 ID Line : Ting_sathu Email :
[email protected] หรือ
[email protected]ภาณุภัณฑ์ พระเครื่อง เชิญที่นี่ >>>
https://www.siam-pra.com/shop/Ting_sathu