พระครูวรเวทมุนี (หลวงพ่ออี๋) จังหวัดชลบุรี ได้สร้างพระเครื่องรางต่างๆ ไว้มาก รวมทั้งปลัดขิกที่มีชื่อมาก (พอๆ กับหลวงพ่อเหลือ แปดริ้ว) ทั้งตะกรุด เสื้อยันต์ เหรียญ พระปิดตา "พระสาม" และ "พระสี่"(พรหมสามหน้า),(พรหมสี่หน้า) กล่าวกันว่าในระยะ พ.ศ. 2483-86 นั้น หลวงพ่ออี๋ ก็มีของดีเกรียงไกรออกสู่สงครามอินโดจีนไปก็มาก ชื่อเสียงของท่านดังขนานไปกับหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอกทีเดียว
พระเครื่องรางของขลังของหลวงพ่ออี๋ มีสร้างออกมามากแบบเอาใน พ.ศ. 2484 และตาม พ.ศ. นี้เอง "พระสาม" และ "พระสี่" หรือ พระพรหมสี่หน้า ก็ได้กำเนิดตามออกมาด้วย พระทั้ง 2 พิมพ์เป็นพระเนื้อเมฆพัตร ด้านพุทธคุณมีทั้งแคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี พระพรหมสามหน้าของหลวงพ่ออี๋ เป็นเนื้อเมฆพัตร สร้างราวๆ ประมาณช่วงปี พ.ศ. 2483-2485 ทันยุคสมัยของหลวงพ่ออี๋ท่าน เป็นรูปพ ระปางสมาธิ ซึ่งรุ่นนี้ช่างได้สร้างออกมาเป็นครั้งแรก สร้างเป็น 3 หน้า หรือ 3 ด้าน แต่สร้างผิด คือ ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่ออี๋ ตามประสงค์ที่แท้จริงที่ถูกต้องของท่าน ท่านต้องการพระพรหม 4 หน้า ต่อมาจึงได้สร้างให้ถูกต้องตามประสงค์ แล้วก็นำเข้าพิธีพุทธาภิเศกพร้อมกันทั้ง พระพรหม 3 หน้า และ 4 หน้า นับว่าเป็นเครื่องรางของขลังอีกประเภทที่ทันหลวงพ่ออี๋ท่าน สำหรับคนที่ไม่สามารถหา เหรียญปี 2473 หรือ 2483 ไว้บูชาได้ พระพรหม 3 หน้า หรือ 4 หน้า หรือวัตถุมงคลประเภทอื่นที่ได้จัดสร้างในสมัยท่านปลุกเสกโดยท่าน ก็สามารถบูชาได้เช่นกัน ซึ่งพุทธคุณก็เหมือนกัน และราคาเช่าหาก็ไม่แรง
พระครูวรเวทมุนี (หลวงพ่ออี๋) วัดสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี พระครูวรเวทมุนี ปรากฏนามเป็นที่รู้จักกันทั่วไปๆ ว่า "หลวงพ่ออี๋" เพราะท่านชื่ออี๋มาแต่แรก ท่านเป็นบุตรชาย นายขำ นางเอียง ทองขำ เกิดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2408 ตรง กับวันอาทิตย์ ขึ้น 11 ค่ำเดือน 11 ปีฉลู ที่บ้านตำบลสัตหีบ กิ่งอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่ออายุ 25 ปีได้อุปสมบทที่วัดอ่างศิลานอก ซึ่งบัดนี้ได้ยุบรวมเข้าเป็น วัดอ่างศิลาวัดเดียว โดยมีพระอาจารย์จั่น จนฺทโส เป็นพระอุปัชฌาย์ โดยมีพระอาจารย์ทิม เป็นกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์แดงเป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอุปัชฌาย์ได้ตั้งฉายาว่า "พุทธสโร" และในช่วงโอกาสนั่นเอง หลวงพ่ออี๋ก็ฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย คลองด่าน และยังกล่าวกันอีกว่า หลวงพ่อแดงและหลวงพ่อเหมือนก็เป็นพระอาจารย์ท่านด้วยเช่นกัน
วัดสัตหีบ (วัดหลวงพ่ออี๋) เป็นวัดที่หลวงพ่ออี๋ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2442 และท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก หลวงพ่ออี๋มีความชำนาญในด้านสมถะวิปัสสนาธุระมาก คือ คล่องแคล่วในการเข้าใน ออกนอก และในการพักจิตอยู่เป็นกสิณ และในธรรมารมณ์ตามปรารถนา จะเรียกว่า มีวสีภาพก็ควร เพราะเมื่อท่านปรารถนาจะสำรวมจิตแล้ว ไม่มีอะไรมาขัดขวางทางเดินภายในของท่านได้ เป็นการเข้าออกได้เรียบร้อยตามประสงค์ ท่านหลวงพ่ออี๋เริ่มอาพาธในอวสานแห่งชีวิตครั้งนี้ ด้วยโรคฝีที่คอ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2489 แต่ท่านก็ไม่ได้ใส่ใจรักษานัก ท่านเคยปรารภว่ามันจะมาเอาชีวิตท่าน คงใช้แต่ยาของท่านเองบ้าง ปิดบ้าง พอกบ้าง ใช้น้ำมนต์บ้าง เรื่อยมาและไม่หยุดการรับนิมนต์ในที่ใด ๆ ทั้งสิ้น โรคฝีได้กำเริบขึ้นเป็นลำดับมา จนเข้าพรรษาแล้ว พิษของฝีจึงแสดงอาการให้ต้องพักทำวัตรสวดมนต์ แล้วพอถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2489 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ เวลา 20.35 น. หลวงพ่ออี๋ท่านก็บอกให้พระที่นั่งเฝ้าพยาบาลแวดล้อมท่านอยู่ ช่วยประคองให้ท่านลุกขึ้นนั่ง แล้วสั่งไม่ให้ทุกคนแตะต้องตัวท่าน เสร็จแล้วท่านก็นั่งสมาธิตัวตรง เริ่มเข้าสมาธิ ชั่วครู่สิ่งที่ทุกคนคาดไม่ถึง ทำให้ทุกคนตกใจกันสุดขีดคือ ไม้กระดานแผ่นหนึ่ง ซึ่งตั้งพิงฝาผนังภายในกุฏิและตั้งอย่างนั้นมานานแล้ว ก็ล้มโครมลงมาฟาดกับพื้น และกระจกแผ่นหนึ่งที่ติดกับบานประตูตู้ ห่างจากไม้กระดานหลายเมตร ก็กระเด็นหลุดออกมาแตกกระจายทั่วพื้น ทั้งพระและลูกศิษย์วัดที่คอยนั่งเฝ้าพยาบาลแวดล้อมท่านอยู่ตกใจมาก พอหายตกใจได้สติก็หันมาดูหลวงพ่ออี๋ ซึ่งตรงกับเวลา 21.05 น. ท่านก็นั่งสงบปราศจากลมหายใจเข้าออกเสียแล้ว ข่าวการการมรณภาพก็กระจายไปทั่วกิ่งอำเภอสัตหีบอย่างรวดเร็ว สิริรวมอายุของท่านได้ 82 ปี