ประวัติการสร้างพระนาคปรกผงเทพนิมิตร ปี 2497
ความเป็นมาที่เป็นเหตุที่ให้ชื่อว่าเทพนิมิตร เพราะได้ตำราจากความฝัน ว่ามีอาจารย์ผู้เฒ่ารูปหนึ่งมาบอกว่าต่อไปเมื่อหน้า ความสุขความสบายจะไม่มีแก่มนุษย์ผู้ไร้ศีลธรรมจะประสบภัยอันเกิดจากศาสตรา อาวุธนานาชนิดซึ่งไม่เคยพบเห็น ภัยจากโจรผู้ร้ายที่มีใจดำอำมหิตเยี่ยงสัตว์ป่า และภัยจากภูตผีปีศาจ เพื่อให้พ้นจากภัยนี้ท่านบอกว่าให้หาดอกไม้ที่พระสงฆ์เถรานุเถระทำวัตรขอขมา โทษซึ่งกันและกันก่อนเข้าพรรษา และดอกไม้หน้าพระประธานวันเข้าพรรษาวันเดียวให้ได้ ๑๐๘ วัด กับให้เอาตะใคร่พระเจดีย์ที่บรรจุบรมธาตุ ตะใคร่พระศรีมหาโพธิ์ ผงวิเศษของอาจารย์ต่างๆหลายสำนัก ผงวิเศษของอาจารย์คง อาจารย์ของขุนแผน มาทำเป็นรูปพระเข้าพิธีปลุกเสกตลอดสามเดือน พร้อมด้วยการทดลองคุณภาพให้เห็นเป็นที่ไว้วางใจได้ ให้ผู้ที่บูชาพระผงเทพนิมิตรนี้ละบาปบำเพ็ญบุญ มั่นอยู่ในศีลธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คุณพระจะรักษาให้พ้นภัยทั้งปวงดังกล่าวแล้ว
พระผงเทพนิมิตรที่สร้างในปี 2497 นี้จะมีด้วยกันหลายพิมพ์ เช่น พิมพ์ขุนแผน พิมพ์ชินราชท่าเรือ พิมพ์นางตรานาคปรกใหญ่-เล็ก พระนาคปรกหลังยันต์ เป็นต้น โดยมีการสร้างแต่ละพิมพ์ พิมพ์ละ 84,000 องค์ และจัดให้มีการประกอบพิธีพุทธาภิเษก จัดให้มีขึ้นตลอดพรรษา ณ วิหารวัดพระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช ได้ฤกษ์พิมพ์องค์พระในวันที่ 2 สิงหาคม 2497 ครบ 84,000 องค์ วันที่ 1 กันยายน 2497 ทำพิธีปลุกเสกวันที่ 14 กันยายน 2497 ออกพิธีวันที่ 12 ตุลาคม 2497 ซึ่งเป็นวันออกพรรษา โดยพิธีนี้ได้นิมนต์พระเถราจารย์ ผู้เรืองเวทวิทยาคม 108 รูป มาร่วมประกอบพิธี มีท่านเจ้าคุณพระภัทรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุฯ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
พระชุดนี้ได้ทำพิธีปลุกเสกที่ วัดบรรพตพินิจ อ.เขาชัยสน พัทลุง และมาปลุกเสกที่วัดบรมธาตุนครศรีธรรมราช อีกครั้งหนึ่ง โดยมีคณาจารย์สายใต้และสายเขาอ้อร่วมปลุกเสกดังนี้
1. หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขัน จันดี
2. หลวงพ่อโอภาสี บางมด ธนบุรี
3. หลวงพ่อเขียว วัดหรงบน
4. หลวงพ่อเมือง วัดท่าพญา
5. หลวงพ่อคง วัดคลองน้อย
6. หลวงพ่อมุ่ย วัดป่าระกำ ปากพนัง
7. หลวงพ่อแดง วัดโท ท่าศาลา
8. หลวงพ่อคลิ้ง วัดถลุงทอง ร่อนพิบูลย์
9. หลวงพ่อแดง วัดเขาหลัก ทุ่งใหญ่,
10. หลวงพ่อตุด วัดทุ่งกง กระบี่
11. หลวงพ่อวัน มะนะโส วัดประสิทธิชัย
12. หลวงพ่อแสง วัดคลองน้ำเจ็ด ตรัง
13. หลวงพ่อปาล วัดเขาอ้อ
14. หลวงพ่อคง วัดบ้านสวน
15. หลวงพ่อดิษฐ์ วัดปากสระ
16. หลวงพ่อเจ็ก วัดเขาแดงตะวันตก
17. หลวงพ่อหมุน วัดเขาแดง ตะวันออก พัทลุง
18 หลวงพ่อพัว วัดเขาราหู (วัดบางเดือน)
19. หลวงพ่อแดง วัดคลองไทร
20, หลวงพ่อวิรัช วัดกะเปา คีรีรัฐนิคม สุราษฎร์ธานี
21. หลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน
22, หลวงพ่อสงฆ์ วัดศาลาลอย
23. หลวงพ่อจีด วัดถ้ำเขาพลู
24, หลวงพ่อรุ่ง วัดบางแหวน ชุมพร
25, หลวงพ่อท้วม วัดเขาโบสถ์ บางสะพาน
26, หลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก ประจวบคีรีขันธ์
27. หลวงพ่อทองศุข วัดโตนดหลวง เพชรบุรี
28. หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ เพชรบุรี
29. หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม
30. หลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม นครปฐม ฯลฯ
อาจารย์ที่เป็นฆราวาสได้แก่ อ.ชุม ไชยคีรี, อ.นำ แก้วจันทร์, พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ ราชเดช การปลุกเสกเน้นเด่นเฉพาะทาง แบ่งออกเป็นช่วง ช่วงละ 7 วัน เช่น ปลุกเสกเน้นด้านคงกระพันชาตรี 7 วัน มหาอุด 7 วัน ป้องกันสัตว์ร้ายและโจรร้าย 7 วัน ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บและภูตผีปีศาจ 7 วัน เมตตามหานิยม 7 วัน เนรมิตกายกำราบศัตรูให้เห็นเราคนเดียวเป็นหลายคน
มวลสารที่รวบรวมมามีพระกรุสุดยอดพระเครื่องจากทั่วประเทศ มาดำเนินการสร้างพระชินราชท่าเรือนี้ จากการรวบรวมปรากฎว่าได้พระกรุมากว่า 108 กรุ ว่านยาอีก 108 ชนิด รวมทั้งผงวิเศษ อาทิเช่น พระกรุนางตรา-ท่าเรือ, กรุท้าวโคตร, สมเด็จวัดระฆัง, สมเด็จบางขุนพรหม, พระผงสุพรรณ, ผงดำผงแดงหุ่นพยนต์, หลวงพ่อเกตุ วัดขวิด, ขุนแผนวัดพระรูปและวัดบ้านกร่าง, พระนางพญาวัดนางพญาและวัดต้นจันทร์ สุพรรณบุรี, พระกรุต่าง ๆ ในกำแพงเพชร, พระกรุต่าง ๆ ในสุโขทัย, หูยานลพบุรี, ท่ากระดานหูไห กาญจนบุรี, พระกรุวัดท่ามะปราง, พระวัดชินราช พิษณุโลก, พระหลวงพ่อจุก, พระจุฬามณี พิษณุโลก, พระรอด พระคง พระเปิม-ลำพูน, มหาว่านวัดเขาอ้อ-พัทลุง, และพระกรุศรีวิชัยฯลฯ สำหรับพระคณาจารย์ที่ปลุกเสกขอยกมาเป็นบางส่วน ได้แก่
เมื่อเสร็จพิธีกรรม อาจารย์ชุม ไชยคีรี ได้นำพิมพ์ต่างๆ เช่น พระพิมพ์นางตราและท่าเรือขนาดใหญ่-เล็ก พระนาคปรกหลังยันต์ พระพิมพ์ชินราชใหญ่-เล็ก พระพิมพ์ขุนแผน ออกแจกด้วยตัวท่านเอง พร้อมสมุดอุปเท่ห์การบูชาพระ ผู้คนจึงรู้จักกันว่าเป็นพระของอาจารย์ชุม จำนวนการสร้างนั้นมีพิมพ์ละ 84,000 องค์ เมื่อพระมีจำนวนมากบางส่วน ท่านจึงได้นำบรรจุเก็บไว้ในถัง 200 ลิตร ต่อมาปลวกมาทำรัง พระที่พบจึงมีทั้งแบบมีคราบปลวกและที่ไม่มีคราบ