เฉลว (ตาแหลว) สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ ป้องเสนียด คุ้มภัย
เฉลว คือ สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ชนิดหนึ่ง ที่เชื่อว่ามีฤทธิ์อำนาจทางข่ามคงในตัวเอง ภาคกลางเรียก “เฉลว” ภาคเหนือ และอีสานเรียกว่า “ต๋าแหลว” “ตาแหลว” ภาคใต้บางท้องถิ่นเรียก “ตะหลิ่ว” “ตาแหลว” ซึ่งคือภูมิปัญญาผสมผสานกับคติความเชื่อในคติชนวิทยา
เฉลว หรือ ตาแหลว โดยส่วนใหญ่สานด้วยเส้นตอกไม้ไผ่ และขัดไขว้กันขึ้นเป็นรูปทรงเรขาคณิตในรูปต่างๆ โดยทางความเชื่อ เพื่อป้องกันเสนียดจัญไร ภูติผี โรคภัยไข้เจ็บ ศัตรูพืช คุณไสย อาถรรพ์ต่างๆ ฯลฯ
ในสมัยโบราณจะพบเห็นเฉลวปักไว้ตามแปลงข้าวกล้า เพื่อป้องกันศัตรูพืช โรคพืช และเพื่อสร้างนิมิตมงคลแปลงนาข้าวให้อุดมสมบูรณ์ และเมื่อจะทำการตั้งเครื่องไหว้รับขวัญแม่โพสพ จะทำการปักเฉลวไว้ที่แท่นบูชา เพื่อแสดงนัยยะว่าพื้นที่นั้นคือ ที่ตั้งรับขวัญแม่โพสพ คนที่มาช่วยลงแขกเกี่ยวข้าวจะได้รับรู้ไม่เดินเข้าไปเหยียบย้ำ
สำหรับหมอยา เมื่อทำการปรุงยา หม้อต้มยา จะทำการปักเฉลวไว้ที่หีบยา ไว้ที่หม้อต้มยา เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายที่จะมาทำให้ฤทธิ์ยาเสื่อม และป้องกันวิทยาธรมาขโมยสรรพคุณฤทธิ์ยาออกไป บางท้องถิ่นเชื่อว่า การปักเฉลวจะป้องกันผีข้ามหม้อยา เพราะจะทำให้ยานั้นเสื่อมฤทธิ์ การมีเฉลว คือ ที่อยู่ของเทวดา หรือผีประจำหม้อยา
อีกนัยยะหนึ่งเพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ให้รู้ว่า หม้อนี้คือ หม้อยา ไม่ใช่หม้อต้มปกติทั่วไป เพราะการเคี่ยวยาจะมีข้อจำกัดเวลาในการต้ม การผิงอิงที่ต้องอาศัยความเอาใจใส่ เพื่อคนจะได้รู้และเข้ามาสังเกตดูบ่อยๆ นั้นคือ นัยยะเพื่อแยกจุดสังเกตระหว่างหม้อยาและหม้อต้มทั่วไปนั้นเอง
นอกจากนี้ตามชนบท ทุกภูมิภาคของไทยมีความเชื่อเหมือนกันคือ แขวนเฉลวไว้ที่ บริเวณหน้าประตูบ้าน หน้ารั้วบ้าน หน้าต่างๆ เพื่อป้องกันผี เสนียด คุณไสย ไม่ให้เข้ามาในบริเวณบ้าน เช่นภาคอีสาน จะมีหมอธรรมประจำหมู่บ้าน ภาคเหนือ เรียกว่าพ่อหนาน ช่วยทำเฉลวพร้อมเสกสัมทับด้วยวิทยาคม แล้วจึงนำมาห้อยไว้ที่บ้านของตน
ความเชื่อ ห้อยเฉลวเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย มิใช่มีเพียงเฉพาะชาวบ้านเท่านั้น แม้แต่ในวัด ภายในโบสถ์ กุฎิสงฆ์ วิหาร ศาลาบางแห่งก็นิยมห้อยเฉลวไว้ด้วยเช่นกัน
เฉลวมีหลายรูปแบบ เช่น ๓ ๕ ๖ ๘ แฉก เฉลว ๕ ชั้น ๗ ชั้น และยังมีการใช้วัสดุทำหลายอย่างด้วย เช่น ทำจาก ตอกไม้ไผ่ (นิยมมากที่สุด) หญ้าคา (ตาเหลวใบคา หรือ ตาแหลวคา) ยอดข้าว (เฉลวแม่โพสพ) ยอดหญ้า (เฉลวยอดทุ่ง)
เหตุใดเฉลวจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ข่ามคง ด้วยรูปแบบของเฉลวทุกชนิด อยู่ในรูปแบบสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความเชื่อนี้มิได้เป็นเพียงความเชื่อเฉพาะไทยเท่านั้น หากแต่เป็นความเชื่อหลักสากล ที่มีมานานนับพันปี เช่น
- รูปทรงสามเหลี่ยม เชื่อว่า การแแนสภาวะสมดุลย์ หรือความบริบูรณ์แห่งพระเป็นเจ้าตามคติฮิบบรู หรือการรวมเป็นอันหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้าตามคติฮินดู ฯลฯ
- รูปทรงห้าเหลี่ยม กรีกโบราณเชื่อว่า ใช้เป็นเครื่องป้องกันความชั่วร้าย คุณไสย คริตส์ศาสนาคือสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ บาดแผลทั้งห้าแห่งพระเจ้า แทนความสมดุลย์แห่งสภาวะต้นธาตุ ฯลฯ
- รูปทรงหกเหลี่ยม รูปทรงแบบแรกๆที่มนุษย์รู้จักการนำมาใช้แทนพลังอำนาจ หากสังเกต ด้วยการรังสรรค์จากธรรมชาติ จะพบโครงสร้างหกเหลี่ยม ปรากฎอยู่มากมาย ชาวตะวันตกเชื่อว่า รูปทรงนี้พระเจ้าส่งมาจากสวรรค์ประทานแก่มนุษย์ นอกจากนี้รูปทรงหกเหลี่ยมยังแสดงถึงการเชื่อมโยงพันธะของสรรพสิ่งในธรรมชาติเข้าไว้ด้วยกัน
*** รายละเอียดของรูปทรง ยกไว้เขียนในบทความเกี่ยวกับรูปทรงสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์โดยตรง
การทำเฉลวแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ เฉลวถาวร และเฉลวชั่วคราว ซึ่งทั้งสองนี้มีการใช้งานในวัตถุประสงค์ใกล้เคียงกัน แตกต่างกันเฉพาะกิจเท่านั้น
- เฉลวถาวร นิยมใช้ตอกไม้ไผ่ ตอกลาน สานขึ้นเป็นรูป การใช้ ตอกไผ่ หรือ ตอกลาน จะมีความคงทนอยู่ได้นานหลายสิบปี เพื่อนำไปห้อยป้องกันตามบ้านเรือน ยุ้งฉานข้าว
- เฉลวชั่วคราว นิยมใช้วัสดุที่ทำขึ้นได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากซับซ้อน และทำขึ้นเฉพาะกิจในครั้งนั้นๆ ซึ่งอาจจะใช้ตอกไผ่ ตอกลาน ก็ได้ แต่ทำขึ้นเฉพาะครั้งคราว แต่การใช้ตอกไผ่หรือตอกลานก็ต้องมีการผ่าลำไผ่ทำเป็น ตอก ซึ่งก็จะมีการใช้วัสดุที่ง่ายกว่านั้น และทำได้ในเวลาอันรวดเร็วเพื่อเหตุเฉพาะหน้า เช่น หญ้าคา ยอดข้าว ยอดหญ้า
คติความเชื่อในการสรรสร้างเฉลวของภาคกลาง มีความละเอียดซับซ้อน การเลือกไม้ไผ่ เพื่อคัดสรรไม้ที่ดีที่สุดในการทำเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์ชนิดนี้ โดยคัดเลือกลำไม้ไผ่กลางกอ และการผ่าซีกไม้ไผ่เพื่อเป็นตอก ห้ามผ่าค่อมตาไผ่
ไม้ไผ่ คือ พืชที่อยู่คู่วิถีชีวิตของคนไทยมาช้านาน มักมีการสั่งสอนกุลบุตรให้ศึกษาสัจธรรมการดำเนินชีวิตในแบบไผ่ เช่น ไผ่ คือ พืชที่มีความสามัคคีเกื้อกูลกัน เนื้อจากลำต้นของไผ่จะช่วยประคับประคองกันเองไม่ให้ต้นใดต้นหนึ่งล้มลงจากแรงลม และไผ่ต้นแม่จะแผ่ขยายต้นลูกทั้งคอยหล่อเลี้ยงต้นลูกจนเติบใหญ่ จึงจะแตกออกไปเป็นต้นแม่และหล่อเลี้ยงต้นลูกของตนเองต่อไป
ด้วยเหตุนี้ จึงเปรียบเทียบว่า ไผ่คือ พืชที่มีวิถีคล้ายกับความสัมพันธ์ในระบบครอบครัวของมนุษย์ ดังนั้น จึงเกิดคติ ความเชื่อในการนำ ไผ่มาตัดสายรกให้กับทารกแรกเกิด ด้วยอีกนัยยะหนึ่ง คือ เนื้อในไผ่จะสะอาดปราศจากเชื้อโรค
การทำเฉลวจากยอดข้าว ยอดหญ้า ส่วนมากจะทำเพื่อป้องกันชั่วคราว และเพื่อเหตุเฉพาะกิจที่กำลังเกิดขึ้น ณ ที่ตรงนั้น เช่น เมื่อต้องการค้างพักคืนในป่า ในพื้นที่ที่เราไม่คุ้นชิน จะหาหญ้าคา ยอดหญ้า หรือ ยอดข้าว มาหักเป็นเฉลว แล้วปักเพื่อกันภัยในบริเวณนั้นๆ
การทำเฉลว กรณีเพื่อกันภัยในป่า หรือเพื่อกันแก้อาถรรพ์ชั่วคราวตรงนั้น นิยมทำขึ้นเป็นเฉลว ๓ แฉก และ ๕ แฉก แต่แบบ ๓ แฉกจะได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจาก การทำ ๓ แฉกรวดเร็วทันการณ์ และมีอานุภาพไม่แตกต่างกัน
ยกตัวอย่าง กรณีต้องการข้ามเถาว์เลื้อย หรือเจอไม้ป่าที่เชื่อว่าอาจจะมีแรงอาถรรพ์ พรานป่า จะดึงหญ้าคา หรือยอดหญ้ามาหักเป็น ๓ แฉก แล้วปักลงไป หรือกรณีที่ต้องทำห้างค้างแรมบนต้นไม้ จะใช้หญ้าคา ทำเฉลว ๓ แฉก ปักไว้ที่ต้นไม้เพื่อกันอาถรรพ์ผีต้นไม้นั้น
วิธีการทำเฉลวในปัจจุบันสามารถค้นคว้าหาข้อมูลได้จากในโลกอินเตอร์เน็ต แต่สำหรับในครั้งนี้จะแนะนำวิธีการเฉลวศักดิ์สิทธิ์ ด้วยตนเอง เพื่อไว้สำหรับใช้งานชั่วครั้งชั่วคราวในเหตุเฉพาะหน้า
ใช้หญ้าคา หรือ ยอดหญ้า ยอดข้าว นำมาหักเป็น ๓ แฉก เรียกว่า เฉลว ๓ แฉก โดยวิธีการ
๑. เลือกใบหญ้าคา ยอดหญ้า หรือ ยอดข้าวที่สูงที่สุด ถ้าเป็นหญ้าคาให้เลือกใบที่สูงที่สุดในกอนั้น ยอดข้าว เลือกยอดที่สูงที่สุดในแปลงนานั้น
๒. ใช้มือเด็ด ไม่นิยมใช้ของมีคมตัด ขณะเด็ดให้กลั้นใจเด็ดที่เดียวให้ขาด
๓. ถือโคนหญ้า หรือโคนยอดข้าวขึ้นด้านบน
- หักเปราะที่ ๑ กลั้นใจภาวนา อิ
- หักเปราะที่ ๒ กลั้นใจภาวนา สา
- หักเปราะที่ ๓ กลั้นใจภาวนา สุ
๔. นำปลายเสียบขัดเข้าไปในช่องตรงกลาง ภาวนา ตรีรัตนะ สะระณัง คัจฉามิ เป็นอันเสร็จเฉลวชั่วคราว สามารถนำไปเสียบหรือห้อยในพื้นที่ต้องการได้ทันที
๕. เมื่อเสร็จกิจตรงนั้นแล้ว ให้ดึงขดเฉลวออก กรณีในป่า หรือพื้นที่อื่นไม่ควรปักเฉลวทิ้งไว้แบบนั้น เพราะจะเป็นการตรึงพื้นที่และรบกวนดวงจิตวิญญาณที่อาศัยบริเวณนั้นๆ
๖. หากมีเวลา เสกสัมทับด้วย “สัพเพเทวา ยักขาภูตา ปะริตตาปะเว อัตตะเน สัพเพราชาเมธิยะ มะนุสสา สัพเพโคหา วินาสสันตุ ทิสสะวาตัญจะ ปิยะโต ปุตโตสิเนโห สัพเพชะนา ปะชายะ มหาโพโค มหายะโส ภะยะศัตรู วินาส สันติ” เสก ๓ จบ
***กรณีเสกคาถาสัมทับนี้ จะใช้เมื่อยังพอมีเวลา แต่หากต้องการทำเฉลวที่รวดเร็วในช่วงอึดใจก็ไม่จำเ็นต้องเสกด้วยคาถาสัมทับนี้
#บันทึกไว้ในคติชนวิทยาความเชื่อแขนงหนึ่ง
#สัชฌายะ
#satchaya_rasaynavet